SCBEIC เล็งทบทวนเป้าส่งออกปีนี้ หลังแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากขึ้น

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินมูลค่าการส่งออกไทยในปี 2566 ว่าจะขยายตัวได้ 1.2% ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ รวมถึงประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

(El Nino) ที่อาจส่งกระทบการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย ก่อนจะเผยแพร่ประมาณการส่งออกใหม่ในช่วงเดือน มิ.ย. นี้

ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า การส่งออกสินค้าไทยในระยะต่อไป จะได้รับแรงหนุนจากจีนแผ่วกว่าคาด และมีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มเผชิญแรงกดดันมากกว่าที่เคยประเมินไว้ จาก

1. แรงหนุนสำคัญจากจีนมีแนวโน้มแผ่วลงเร็วกว่าคาด โดยการนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยในเดือนเม.ย. แม้จะขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 เดือนที่ 8.2% แต่ภาพรวมการนำเข้าของจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง นอกจากนี้ ดัชนีชี้วัดการค้ายังแสดงให้เห็นว่า อุปสงค์จากจีนยังอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกของไทยในระยะต่อไป

2. กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงชัดเจน โดยดัชนี Economic Surprise Index จัดทำโดย Citi Group บ่งชี้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจจริงของโลกในไตรมาส 2 เริ่มออกมาแย่กว่าตัวเลขคาดการณ์บ้างแล้ว สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจระยะต่อไปที่ไม่สดใสนัก

3. ดัชนี Flash Manufacturing PMI ในเดือน พ.ค. ของคู่ค้าสำคัญยังอยู่ในภาวะหดตัวจากอุปสงค์สินค้าที่ยังไม่สามารถกลับมาขยายตัวได้

4. เครื่องชี้วัดการค้าระหว่างประเทศ (QuantCube International Trade Index) บ่งชี้ว่าการค้าโลกชะลอลงต่อเนื่อง นำโดยการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และอิตาลี ที่เข้าสู่ภาวะหดตัวแล้วในช่วงปลายไตรมาส 1

5. ข้อมูลเร็วของการส่งออก 20 วันแรกในเดือน พ.ค. ของเกาหลีใต้ หดตัว -16% YOY หดตัวเพิ่มขึ้นจาก -12.5% ในเดือนก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานสูง

ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกสินค้าของไทยเดือนเม.ย.66 อยู่ที่มูลค่า 21,723.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว -7.6% โดยหดตัวมากขึ้นจากระดับ -4.2% ในเดือนมี.ค.66 ทำให้ดุลการค้า พลิกกลับมาขาดดุลอีกครั้งในเดือนเม.ย. ที่ -1,471.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากเดือนมี.ค. เกินดุล 2,718.8 ล้านดอลลาร์

ภาพรวมการส่งออกรายกลุ่มสินค้าส่วนใหญ่หดตัว นำโดย 1) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร หดตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ -12.0% 2) สินค้าอุตสาหกรรมหดตัว -11.2% หดตัวต่อเนื่องมากขึ้นเทียบกับเดือนก่อน 3) สินค้าแร่และเชื้อเพลิงหดตัวแรง -13.7% จากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปที่หดตัว โดยมีเพียงสินค้าเกษตร ที่ยังขยายตัวได้ดีที่ 23.8%

ขณะที่ ภาพรวมตลาดส่งออกหลักของไทยในเดือน เม.ย. ส่วนใหญ่กลับมาหดตัวแรง ไม่ว่าจะเป็นตลาดสหรัฐฯ, ตลาดอาเซียน, ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดญี่ปุ่น ตลาดยุโรป ตลาดฮ่องกง ซึ่งมีเพียงตลาดจีน ที่พลิกกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบเกือบปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top