สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) เปิดเผยว่า สหรัฐจะยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรป (EU) ตามที่เคยประกาศไว้ ท่ามกลางความขัดแย้งเกี่ยวกับคดีการอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน โดยมูลค่าสินค้าที่จะถูกเก็บภาษียังคงอยู่ที่ระดับ 7.5 พันล้านดอลลาร์ และอัตราการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเครื่องบินยังอยู่ที่ 15% และภาษีนำเข้าสินค้าอื่นๆ อยู่ที่ 25%
อย่างไรก็ดี สหรัฐจะถอดสินค้าบางรายการของกรีซและสหราชอาณาจักรออกจากรายการสินค้าเก็บภาษี และจะเพิ่มสินค้าจากฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าสู่รายการสินค้าเก็บภาษีในจำนวนเดียวกัน
นายโรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐเปิดเผยเหตุผลของการยืนยันการเก็บภาษีว่า สหภาพยุโรปและประเทศสมาชิก ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ที่จำเป็นเพื่อปฏิบัติตามมติขององค์การการค้าโลก (WTO)
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนมาตรการตามกฎหมายมาตรา 301 ของสหรัฐที่เกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิทางภาษีตามที่ WTO ตัดสินในคดีความขัดแย้งครั้งใหญ่เกี่ยวกับการอุดหนุนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์
ทั้งนี้ เมื่อปี 2547 สหรัฐได้ยื่นฟ้อง WTO ว่า EU ให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายกับบริษัทแอร์บัสในรูปแบบต่างๆ ต่อมา EU ก็ได้ยื่นฟ้องต่อ WTO เช่นกันว่า สหรัฐให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายแก่บริษัทโบอิ้ง และ WTO ก็ได้ตัดสินว่า ทั้งสหรัฐและ EU ต่างก็ให้เงินอุดหนุนที่ผิดกฎหมายกับบริษัทผลิตเครื่องบินของตนเอง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ส.ค. 63)
Tags: EU, USTR, WTO, กรีซ, ฝรั่งเศส, ภาษี, ภาษีนำเข้า, สหภาพยุโรป, สหรัฐ, สหราชอาณาจักร, สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ, องค์การการค้าโลก, เยอรมนี, แอร์บัส, โรเบิร์ต ไลท์ไฮเซอร์