นายศุภวุฒิ สายเชื้อ อดีตที่ปรึกษา รมว.คลัง (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เปิดเผยในงานอภิปรายหัวข้อ “ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่” ว่า ผลการเลือกตั้งสะท้อนว่าคนไทยมองเศรษฐกิจขยายตัวช้า รวยกระจุกจนกระจาย เป็นกระแสให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผลการเลือกตั้งผิดคาด ทำให้พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำรัฐบาล โดยมีนโยบายเศรษฐกิจหลัก 2 ข้อ คือ 1. ทลายระบบทุนผูกขาด และ 2. ทำรัฐสวัสดิการ โดยการเก็บภาษีจากคนรวยไปให้คนจน เพื่อให้ความเหลื่อมล้ำลดลง
อย่างไรก็ดี ถ้าต้องการฟื้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง การเก็บภาษีจากกำไร มีผลกระทบต่อการลงทุน ในภาวะปัจจุบันที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง ปัจจุบันอยู่ที่ 5.25% ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจ PCE ออกมาสูงเกินคาดทำให้ตลาดคาดว่าในการประชุมครั้งหน้าวันที่ 14 มิ.ย. จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้ง
“ในยุคที่ทุนราคาแพงขึ้น Capital cost ขึ้น แต่จะเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น และถ้าจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำด้วย และถ้าน้ำมันยังแพงอยู่ เป็นห่วงว่าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย มั่นใจหรือไม่ว่าจะเดินต่อไปได้ในภาวะแบบนี้ ขณะนี้ธนาคารหยุดเพิ่มการปล่อยกู้แล้ว ดังนั้น ค่อนข้างเหนื่อยที่ธนาคารเริ่มระมัดระวังตัว ลูกค้าไม่กู้เพิ่ม ทางเครดิตบูโรก็เตือนว่าไทยมีหนี้ NPL รายย่อย 9 แสนล้านบาท แต่มีหนี้ Special mention loan อีก 6 แสนล้านบาท สะท้อนว่ามีปัจจัยพื้นฐานที่เหมือนลมที่ทำให้การฟื้นตัวทำได้ยาก ถ้ามองไปข้างหน้าสหรัฐฯ เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอเศรษฐกิจ แต่ถ้ามากเกินไปก็จะถดถอยไป ความขัดแย้งในยุโรป ตัวเลขเศรษฐกิจจีนฟื้นช้ากว่าที่คิด ดังนั้น ดีมานด์ส่งออกอ่อนแอเราจะฟื้นยาก ต้องยื้อแย่งเงินทุนจากต่างประเทศ เพราะ FDI เข้ามาน้อยลง” นายศุภวุฒิ กล่าว
นายศุภวุฒิ กล่าวถึงสิ่งที่ท้าทายประเทศไทย ได้แก่
- แรงงานไทยปี 2593 หายไป 11 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของแรงงานปัจจุบัน
- การศึกษา คะแนน PISA ปี 2561 อยู่ลำดับที่ 66 จาก 78 ประเทศ คะแนนการอ่านของไทยลดลงเรื่อยๆ
ดังนั้น ถ้าไม่แก้เรื่องจำนวนแรงงานที่ลดลง และการศึกษา ไทยจะไปไม่รอด ต้องมีการปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปหนี้ของคุณครู และอัปสกิลรีสกิลไปพร้อมกัน
- ความเหลื่อมล้ำของภาคธุรกิจ ซึ่งเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลที่จะจัดการทุนผูกขาด เนื่องจากบริษัทใหญ่ 5% ในไทยทำรายได้ 85% ของรายได้บริษัทในไทยทั้งหมด ครองกำไร 60% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งหมด เรื่องหวย SME น่าสนใจ แต่มองว่าอยากให้ SME ขึ้นไปเป็น Unicorn มากกว่า
- อุตสาหกรรมไทยถูกเปลี่ยนแปลงฉับพลันด้วยดิจิทัล (Disruption) เนื่องจากไทยผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเก่าเป็นหลัก ดังนั้นโรงงานต้องแข็งแรง ทั้งนี้ หากจะนำ ปตท. ไปปั่นไฟ แล้วทำให้ต้นทุนการผลิตแพง ก็ต้องคำนึงว่าโรงงานปิโตรเคมีจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ต้องแข่งเอาทุนเข้ามา ไทยต้องอยู่ในซัพพลายเชน เริ่มต้นที่เซมิคอนดักเตอร์ขนาดใหญ่ หรือดูเรื่องแพ็กเกจ
“กรณีรัฐบาลจัดตั้งช้า จะเป็นสุญญากาศทางเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐฯ เองก็ยังไม่นิ่ง อาจเกิดการถดถอยได้ ซึ่งไทยก็จะลำบาก ส่วนนโยบายของพรรคก้าวไกลในหลักการทลายทุนผูกขาดเห็นด้วย เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค แต่ถ้าอยากทลายระยะยาว ต้องทำให้โปร่งใส และสร้างการแข่งขันในระยะยาว” นายศุภวุฒิ กล่าว
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรเลือกทำก่อน คือ เชื่อว่ากิโยตินกฎหมาย (Regulatory Guillotine) สามารถทำได้ และต้องทำ พร้อมปราบคอร์รัปชันแบบจริงจังไปพร้อมกัน นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปการศึกษา และ Up-skil Re-skill รอดูรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการว่าจะมาจัดการเรื่องเด็กและครูอย่างไร
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน และอดีตรมว.พาณิชย์ เปิดเผยในว่า ประเด็นเรื่องค่าครองชีพสำคัญมากที่สุดไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลก็ตาม โดยคาดการณ์ว่า สินค้าราคาแพงจะทรงตัวและไม่ลง ส่วนภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 2-3% ซึ่งอยู่ในระดับสูง
ส่วนอัตราดอกเบี้ย คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 31 พ.ค. นี้ คาดว่ามีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% และขึ้นอีกรอบเดียวเท่านั้น
นายณรงค์ชัย กล่าวว่า จากปัจจัยดังกล่าว ประชาชนจะรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงมาก และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไข ช่วยเหลือ แต่ประเมินว่ารัฐบาลจะสนองคำเรียกร้องได้น้อย เพราะฐานะการเงินการคลังของรัฐบาล เนื่องจากมีปัญหาหนี้สาธารณะชนเพดาน 61.2%ดังนั้น ในเรื่องพลังงานรัฐคงช่วยไม่ได้มาก ส่วนค่าแรงอาจมีการเจรจาและปรับขึ้นได้บ้าง
ดังนั้น รัฐบาลต้องใช้มาตรการทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น ในระยะสั้น สามารถหลายอย่างทำได้โดยไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่ เช่น อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนของภาคเอกชน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) ช่วยเรื่องการเดินทางท่องเที่ยว การส่งออก ใช้ IT มาช่วยได้หมด ส่วนโครงการของรัฐที่ดำเนินการค้างอยู่ก็เร่งทำให้เร็วขึ้น และทำให้เสร็จ
“ตอนนั้นที่เสนอจะให้หมื่นบาท ตนชอบนโยบายนั้น ไม่ได้ชอบเพราะแจกเงิน แต่เพราะผลลัพธ์จะทำให้ทุกคนสามารถทำบล็อกเชนเป็นหมดทั้งประเทศ และจะต้องมีการเรียกร้องให้รัฐบาลทำให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดดิจิทัลอีโคโนมีโดยบังคับ” นายณรงค์ชัย กล่าว
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ควรเลือกทำก่อน คือ มองว่าจะให้รัฐบาลลดค่าครองชีพทำไม่ได้ แต่สามารถเพิ่มความสามารถในการทำมาหากินให้ประชาชน โดยใช้ IT เข้ามาช่วยได้ ส่วนนโยบายอื่นๆ ต้องใช้เวลา
ในระยะต่อไป ปัจจัยภายนอกของประเทศไทยมีความสำคัญมากกว่าปัจจัยในประเทศ ปัญหาใหญ่ของโลกคือความไม่เท่าเทียม โลกร้อน และความเสี่ยงของโลกขณะนี้คือการทะเลาะกัน ไม่ใช่ Market Economy เหมือนอดีต อย่างไรก็ดี ขณะนี้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจเอเชีย จีน อินเดีย และตะวันออกกลาง กำลังมาแรง นำโดยประเทศซาอุดิอาระเบีย
ดังนั้น ถือเป็นโอกาสใหม่ของไทย ดังนี้ 1. ทำระเบียงเศรษฐกิจ 2. สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนให้สามารถช่วยตัวเองได้ ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีดีกว่า เพราะผู้ว่าบางคนต้องการมาเกษียณที่จังหวัดใหญ่ 3. ดูระบบดินและน้ำทั้งประเทศ ทำ Single map 4. ทำ IT ให้เข้าถึงชุมชน และ 5. แก้ปัญหาคอร์รัปชัน ทำทุกอย่างให้เปิดเผยโปร่งใสเป็นธรรม
“เห็นด้วยกับนโยบายหลายข้อที่เสนอ ทุกข้อเป็นสิ่งที่ดี ต้องใช้เวลาแต่ก็ควรทำ เช่น นโยบาย Zero base marketing มองว่าปีนี้ทำไม่ทัน เพราะกว่าจะเป็นรัฐบาลคือเดือนส.ค. ปัญหาคือตั้งรัฐบาลช้า ถ้าออกมาตรการอะไรมาต้องให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตัดสิน ซึ่งก็จะเสียเวลา เรื่องนโยบายไม่ห่วงทุกพรรคไปในแนวทางเดียวกัน” นายณรงค์ชัย กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 พ.ค. 66)
Tags: การเมือง, ณรงค์ชัย อัครเศรณี, ศุภวุฒิ สายเชื้อ, เลือกตั้ง, เศรษฐกิจไทย