กทม. ตั้งงบฯปี 67 ที่ 9 หมื่นลบ. ยึดหลัก Zero Based Budgeting เน้นคุ้มค่า

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2566 ได้มีการหารือเรื่องงบประมาณปี 67 ที่ 90,000 ล้านบาท โดยจัดทำเป็นงบแบบสมดุล ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายจะเป็นโครงการหลากหลายด้าน ภายใต้นโยบาย Zero Based Budgeting หรืองบประมาณแบบฐานศูนย์ โดยจะนำเข้าที่ประชุมสภากรุงเทพมหานครอีกครั้ง

“เป็นการปรับทุกอย่างให้เป็นศูนย์ก่อน โดย กทม.ได้นำโครงการเก่ามาพิจารณาว่าคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าไม่คุ้ม หรือไม่จำเป็น ก็จะไม่นำโครงการเดิมมาทำ หากจำเป็นจริง ๆ หรือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ ก็ค่อยใส่เข้ามา ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่ทำให้เราใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ผู้ว่าฯ กทม.กล่าว

พร้อมระบุว่า แม้ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายแล้วใครจะเป็นรัฐบาลนั้น แต่เบื้องต้น นโยบายในหลายด้านของ กทม. ก็มีความสอดคล้องกับหลายนโยบายที่อยู่ใน MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล และยืนยันว่า กทม.สามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ เพราะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งต้องทำตามรัฐบาลกลางอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี กทม.มีนโยบายหลายเรื่องที่เตรียมนำเสนอรัฐบาลใหม่ เช่น การแก้ปัญหา PM2.5 ที่จะต้องนำแผนแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาใช้อย่างจริงจัง และต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเรื่องการดูแลค่าครองชีพประชาชน ซึ่งหากรัฐบาลใหม่เห็นชอบ ก็จะเป็นเรื่องดี เพราะถ้าหาแนวทางร่วมกันได้ ประโยชน์ก็จะตกอยู่กับประชาชน

นายชัชชาติ กล่าวว่า ระยะเวลาการทำงานเกือบ 1 ปี นโยบายที่พูดถึงมาโดยตลอด คือ เรื่องเส้นเลือดฝอย เพราะเชื่อว่า กทม.จะดีได้ ต้องเริ่มที่เส้นเลือดฝอย เข้าถึงชุมชน และต้องร่วมกับโครงการเส้นเลือดใหญ่ จึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยตัวอย่างของนโยบายเส้นเลือดฝอยที่ทำ และเห็นได้ชัดเจนคือ Traffy Fondue เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของราชการได้เป็นอย่างดี

“เมื่อก่อน ราชการอาจจะไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของประชาชนมากนัก ทั้งๆ ที่ประชาชนคือผู้ที่รู้ปัญหาในพื้นที่ได้ดี เมื่อเรานำระบบ Traffy Fondue มาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ข้าราชการไม่ต้องมาสนใจผู้ว่าฯ แต่สนใจแค่การบริการประชาชน การเอาใจใส่ประชาชน” ผู้ว่าฯ กทม.ระบุ

ปัจจุบัน มีประชาชนแจ้งเรื่องผ่านมาที่ Traffy Fondue ทั้งหมด 285,771 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 206,844 เรื่อง เป็นของหน่วยงานอื่น 61,870 เรื่อง กำลังดำเนินการอยู่ 8,911 เรื่อง นับเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการประชาชน ทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างไร้รอยต่อ เป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อนาคตเชื่อว่าจะมีการขยายผลใช้งานไปทั่วประเทศต่อไป

สำหรับนโยบายเส้นเลือดฝอย 216 นโยบาย ได้เริ่มไปแล้วประมาณ 190 กว่าเรื่อง อีกประมาณ 20 เรื่อง กำลังทบทวนว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยหรือไม่ และยังจำเป็นหรือไม่ หลายโครงการที่ กทม.ได้ดำเนินการไปเป็นเรื่องที่อาจจะเห็นไม่ชัด แต่แฝงอยู่ในชีวิตของประชาชน เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ/คูคลอง การปรับระบบการศึกษา การเปลี่ยนหลอดไฟที่ดับ เปลี่ยนไฟเป็นหลอด LED การปรับปรุงทางเท้า นำสายสื่อสารลงดิน เป็นต้น โดย กทม.ยังคงเดินหน้าทำตามนโยบายที่ให้ไว้ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top