ZoomIn: เปิดมุมมองโรงไฟฟ้า นโยบายลดค่าไฟกระทบไหม!?

นโยบายปรับลดค่าไฟฟ้า 70 สตางค์ต่อหน่วยของพรรคก้าวไกล ด้วยการรื้อสูตรราคาก๊าซฯ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีต้นทุนต่ำลง พร้อมเดินหน้าปลดล็อกสัญญาค่าความพร้อมจ่าย (AP) โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) และ โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ได้สร้างความกังวลต่อนักลงทุนอย่างมาก กดดันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าปรับตัวลงแรงในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะ GULF, BGRIM, GPSC อย่างไรก็ตามเพื่อให้เห็นมุมมองของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าบางส่วน ต่อนโนบายลดค่าไฟฟ้า “อินโฟเควสท์” ได้รวบรวมเอาไว้ ดังนี้

*มุมมองผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า

นางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวว่า หากมีการปรับสูตรการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าน่าจะส่งผลให้ค่าก๊าซฯ ลดลง และจะทำให้ค่า Ft มีช่องว่างในการปรับลดลงด้วยเช่นเดียวกัน สะท้อนค่าไฟฟ้าก็จะปรับตัวลง แต่บริษัทฯ คาดว่าไม่น่าจะมีผลกระทบต่อมาร์จิ้นมากนัก

ส่วนการปลดล็อกสัญญาค่าความพร้อมจ่าย (AP) ที่ภาครัฐต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นข้อผูกพันระยะยาวตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า มองว่าจะกระทบกับบางโรงไฟฟ้าที่มีอายุ 5-10 ปี แต่มองว่าอาจจะมีการเจรจาเพิ่มเติมในการลดส่วนนี้ โดยที่ภาครัฐอาจมีข้อเสนออื่นให้ผู้ประกอบการ แต่อย่างไรก็ตาม ทาง BGRIM ถือว่ามีโรงไฟฟ้าที่มีอายุมากอยู่ในพอร์ต สัญญาที่มีอายุสั้นสุดจะอยู่ที่ 14 ปี น่าจะไม่เข้าข่าย

นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เชื่อว่าความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security), ราคาค่าไฟฟ้า และการลดภาวะโลกร้อน หรือลดการปล่อยคาร์บอนฯ นั้น จะต้องทำให้มีความสมดุลกัน ซึ่งบริษัทฯ ก็มีความพร้อมอย่างยิ่งที่จะร่วมพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ในเรื่องของการผลิตไฟฟ้าราคาถูกตามนโยบายของบริษัทฯ และมีส่วนร่วมในการมุ่งลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ส่งผลให้ portfolio ของ BPP ไปสู่การเป็น Greener & Smarter

ปัจจุบัน BPP มีโรงไฟฟ้าอยู่ 2 โรง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า BLCP และ HPC ที่มีการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ปีที่ผ่านมา โดยมีค่าความพร้อมจ่าย (Equivalent Availability Factor: EAF) ค่อนข้างมาก หรือเรียกได้ว่าเป็น 2 ใน 3 ของโรงไฟฟ้าที่เป็น Base load power generation ของประเทศไทยทั้งปี 65 และมีราคาค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำที่สุด ผสานกับการไปสู่ Net Zero ในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล

ด้าน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยในการประชุมนักวิเคราะห์ในช่วงที่ผ่านมา (อ้างอิงข้อมูลจาก บล.กสิกรไทย) ว่า การเปลี่ยนแปลงสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ที่มีเซ็นสัญญาไปแล้วนั้น น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ยาก เนื่องจากอาจส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน ทั้งตัวผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้โครงการต่างๆ ซึ่งโดยปกติจะมีการปล่อยกู้ราว 70% ของเงินลงทุน รวมถึงกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยด้วย เนื่องจากอาจลดทอนความน่าเชื่อถือของนักลงทุนต่างชาติ

อย่างไรก็ตาม มองค่า Ft มีแนวโน้มปรับตัวลงมาอยู่แล้ว เป็นไปตามราคาก๊าซฯ ที่ปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก เห็นได้จาก Spot LNG ที่นำเข้ามาราคาลดลงมาก ปัจจุบันเหลืออยู่ 10 เหรียญฯ/MMBTU จากปีก่อนอยู่ราว 30-40 เหรียญฯ/MMBTU รวมถึงแหล่งผลิตก๊าซฯเอราวัณ ก็ผลิตได้มาพอสมควร

*มุมมองนักวิเคราะห์

บล.กสิกรไทย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ค่า Ft ปกติจะปรับรอบทุก 4 เดือน โดยในปี 66 การปรับรอบแรก (เดือน ม.ค.-เม.ย.) ค่า Ft อยู่ที่ 1.5492 บาท/kWh และการปรับรอบที่ 2 (เดือน พ.ค.-ส.ค.) อยู่ที่ 0.915 บาท/kWh จากสมมติฐานปัจจุบัน คาดว่าค่า Ft ในการปรับรอบที่ 3 (เดือน ก.ย.-ธ.ค.) จะไม่เปลี่ยนแปลงจากรอบที่ 2 ที่ 0.915 บาท/kWh

อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายดังกล่าวของพรรคก้าวไกล จะทำให้เกิด downside risk ต่อประมาณการที่ค่า Ft รอบที่ 3 อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าค่า Ft จะลดลง 0.70 บาท/ kWh ในการปรับรอบที่ 3 (ประมาณ 100 วันหลังจากวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.66) ทำให้ทำการวิเคราะห์ความอ่อนไหวต่อผู้ประอบการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมภายใต้การวิเคราะห์ด้วยค่า Ft เฉลี่ยปี 66 อยู่ที่ 0.8931 บาท/kWh เทียบกับสมมติฐานล่าสุด ที่ 1.1264 บาท/kWh

BGRIM จะได้รับผลกระทบสูงสุดจากความอ่อนไหวของค่า Ft โดยจะมี downside ต่อประมาณการกำไรปี 66 ที่ 22% ตามมาด้วย GPSC ที่ 18% ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมที่เหลือ ได้แก่ BPP EGCO GULF และ RATCH จะมี downside ต่อประมาณการกำไรที่จำกัดที่ประมาณ 0-2%

อย่างไรก็ตาม คงมุมมองเป็นกลางต่อกลุ่ม utility เนื่องจากเล็งเห็นความไม่แน่นอนของนโยบายภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังคาดว่าจะเห็นราคาเชื้อเพลิง รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหินที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งช่วยให้อัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ของผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าทุกรายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 66)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top