เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 66 ที่ผ่านมา เป็นวันเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยที่มีผลการเลือกตั้งที่สร้างความแปลกใจและหักปากกาเซียนหลายคน คือ พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนถล่มทลายทั่วประเทศได้และกวาดจำนวน ส.ส.ในสภาล่างมากที่สุด เหนือกว่าพรรคเพื่อไทยที่เดิมเป็นพรรคที่ถูกคาดการณ์ว่าจะได้รับคะแนนสูงสุดและเป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
แต่อย่างไรก็ตาม ณ เวลานี้ พรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 และ 2 ได้มีความพยายามจัดตั้งรัฐบาล โดยทั้งสองพรรคต่างมีนโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาบริหารจัดการกิจการของประเทศเหมือนกัน ซึ่งหนึ่งในนโยบายที่น่าสนใจ คือ การใช้ระบบ Blockchain ปราบโกง คนชี้เบาะแสจะไม่ถูกเปิดเผยตัว ซึ่งจะถูกนำมาใช้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของอนาคต
แนวคิดการใช้ Blockchain เข้ามาแก้ปัญหาต่าง ๆ รวมถึงปัญหาการลดการคอร์รัปชันนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะมีการนำไปใช้ในต่างประเทศบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการทำงานกับรัฐที่พบการคอร์รัปชันได้มากที่สุด จากการประมาณการของ OECD คาดว่า 10-30% ของงบประมาณของรัฐจะสูญเสียไปกับการทุจริตในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดจากความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างเจ้าหน้าที่และบริษัทคู่ค้า ทำให้ง่ายต่อการซ่อนเร้นปิดบังการกระทำผิด เช่น การวางแผนงานโครงการ สร้างเกณฑ์การประเมินผลหรือการพิจารณาน้ำหนักคะแนนที่เอื้อต่อเอกชนบางราย รวมถึงอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การประเมิน การแก้ไขเงื่อนไขการทำงานย้อนหลังอีกด้วย
Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณสมบัติในเรื่องความปลอดภัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงเป็นเทคโนโลยีที่ “อาจ” ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะกระบวนการทุกอย่างที่ถูกบันทึกไว้ หากถูกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้แก้ไขและแก้ไขเมื่อใด
นอกจากนั้นแล้วผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน ก็สามารถติดตามความคืบหน้าและคุณภาพของกระบวนการดังกล่าวได้ทุกขั้นตอนในกระบวนการทำงานทั้งหมดได้ตลอดเวลา ตัวอย่างประเทศที่ปรับใช้ Blockchain กับการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว คือ ประเทศโคลอมเบีย ที่ทุกขั้นตอนการทำงานจะถูกบันทึกทันที ไม่สามารถ (แอบ) มาแก้ไขภายหลังได้ สามารถตรวจสอบได้ทำให้เกิดความโปร่งใส
นอกจากนั้นแล้ว Blockchain ยังสามารถนำมาช่วยพัฒนาระบบทะเบียนต่าง ๆ จากรัฐได้ เนื่องจากในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าการประกอบหรือดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ย่อมถูกกำกับควบคุมจากรัฐไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ธุรกิจต่าง ๆ ต้องได้รับอนุญาตหรือขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของรัฐทำให้เกิดช่องว่างในการทุจริตขึ้นอย่างมาก
อีกทั้งการดำเนินการของรัฐก็มีความล่าช้าก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เช่น การซื้อขายหรือทำธุรกรรมเกี่ยวกับที่ดินที่ต้องมีเอกสารเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังต้องอาศัยระยะเวลาอย่างมากสำหรับธุรกรรมหนึ่งผ่านหน่วยงานของรัฐ ตัวอย่างเช่น ประเทศจอร์เจีย ที่เปลี่ยนระบบการจดทะเบียนแบบเดิมมาใช้ Blockchain ที่สามารถขึ้นทะเบียนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ทะเบียนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือโฉนด หรือทะเบียนบ้าน ซึ่งสามารถตรวจสอบชื่อในทะเบียนบ้านหรือความถูกต้องของโฉนดที่ดินจากข้อมูลที่ถูกบันทึกบน Blockchain ส่งผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจ เช่น รัฐสามารถประเมินมูลค่าที่ดินได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
จากตัวอย่างดังกล่าว ทำให้เห็นว่านโยบายดังกล่าวของพรรคการเมืองทั้งสองจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่มากก็น้อย แต่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่นั้น ต้องออกแบบเพื่อใช้งานสำหรับองค์กรขนาดใหญ่ระดับประเทศ จึงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องมีความพร้อมด้านแนวคิดและวิธีการแล้วก็จำต้องมีบุคคลกรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เข้าใจระบบแบบเดิมและระบบแบบใหม่ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อทำให้นโยบายดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 พ.ค. 66)
Tags: Blockchain, Cryptocurrency, Decrypto, SCOOP, พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย