แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเปิดเผยในวันนี้ (16 พ.ค.) ว่า จำนวนการตัดสินประหารชีวิตที่ได้รับการยืนยันแล้วทั่วโลกในปี 2565 เพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี โดยพุ่งขึ้น 53% จากปีที่แล้ว นำโดยภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ
รายงานประจำปีระบุว่า มีการตัดสินประหารชีวิตเกิดขึ้น 883 คดีใน 20 ประเทศ ซึ่งรวมถึง 1 คดีในญี่ปุ่น เทียบกับ 993 คดีในปี 2560 และ 579 คดีในปี 2564
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ยอดการประหารชีวิตทั่วโลกในความเป็นจริงน่าจะสูงกว่านั้นมาก เนื่องจากตัวเลขดังกล่าวยังไม่นับรวม “การตัดสินประหารชีวิตอีกหลายพันคดีที่ดำเนินการโดยจีน”
ทั้งนี้ 90% ของการประหารชีวิตนอกประเทศจีนนั้นเกิดขึ้นในอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ในปีที่ผ่านมา
แอมเนสตี้ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียประหารชีวิตประชาชนไปทั้งสิ้น 196 ราย ซึ่งมากที่สุดของประเทศในรอบ 30 ปี พร้อมระบุว่า มีการประหารชีวิตมากที่สุดถึง 81 รายในวันเดียว
อิหร่านมีการประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 576 ราย จาก 314 รายในปี 2564 โดยนางแอกเนส คัลลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ระบุในการแถลงข่าวว่า รัฐบาลอิหร่านได้ประหารชีวิตผู้คนที่ออกมาใช้สิทธิ์ประท้วงด้วยความพยายามอย่างหนักที่จะยุติการลุกฮือของประชาชนในประเทศ
ขณะเดียวกัน ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตทั้งสิ้น 11 คนในสิงคโปร์, 4 คนในบังกลาเทศ และ 1 คนในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม รายงานไม่ได้ระบุตัวเลขอย่างเฉพาะเจาะจงของเกาหลีเหนือ และประเทศต่าง ๆ รวมทั้งจีนและเวียดนาม เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ
ด้านเมียนมา ซึ่งถูกปกครองโดยรัฐบาลที่มาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี 2564 นั้น มีการตัดสินประหารชีวิตนักโทษรวมทั้งสิ้น 4 คน ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตนักโทษเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีของเมียนมา
นอกจากนี้ อัฟกานิสถานยังกลับมาเริ่มดำเนินการประหารชีวิตนักโทษอีกครั้ง เมื่อกลุ่มตาลีบันกลับมามีอำนาจหลังการโค่นล้มรัฐบาลที่สหรัฐให้การสนับสนุน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 พ.ค. 66)
Tags: ประหารชีวิต, แอมเนสตี้