นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขออนุมัติเพิ่มทุนจาก BAY อีก 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 64 เพื่อนำมาใช้สำหรับการลงทุนสตาร์ทอัพตั้งแต่ปี 64 เป็นต้นไป
โดยปัจจุบันวงเงินสำหรับการลงทุนสตาร์ทอัพครั้งแรกที่ BAY อนุมัติมา 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ใช้ลงทุนในสตาร์ทอัพไปแล้ว 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการเข้าลงทุนเอง และลงทุนผ่านกองทุน Venture Capital ในต่างประเทศ (Fund of funds) ซึ่งมีสตาร์ทอัพที่เข้าลงทุนทั้งหมด 50 สตาร์ทอัพ 75 โครงการ พร้อมกับนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้ใน 26 หน่วยงายในเครือธนาคาร
บริษัทคาดว่าในสิ้นปี 63 จะใช้วงเงินลงทุนครั้งแรกครบทั้ง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในส่วนของสตาร์ทอัพที่บริษัทเข้าลงทุนนั้นมี 7 สตาร์ทอัพในปัจจุบันที่บริษัทเข้าลงทุนเอง ได้แก่ Grab FINNOMENA Baania Omise CHOCOCRM SILOT และ ICON Framework พร้อมตั้งเป้าสิ้นปี 63 จะมีสตาร์ทอัพที่บริษัทเข้าลงทุนเองเพิ่มเป็น 10 สตาร์ทอัพ โดยในเร็ว ๆ นี้จะมี 1-2 สตาร์ทอัพที่จะได้เห็นความชัดเจนของการที่บริษัทเข้าลงทุน
สำหรับก้าวต่อไปของกรุงศรี ฟินโนเวต ในการก้าวเป็นกรุงศรี ฟินโนเวต 3.0 ภายในปี 67 จะหันมาเน้นการลงทุนในสตาร์ทอัพที่สร้างผลตอบแทนให้กับบริษัทเข้ามามากขึ้น ผ่านการผลักดันโครงการต่าง ๆ ของสตาร์ทอัพให้ออกมาได้ใช้จริงอย่างชัดเจน เพื่อสร้างรายได้และการเติบโตให้กับสตาร์ทอัพ และทำให้บริษัทได้ผลตอบแทนเข้ามา เพื่อมีเงินลงทุนไปใช้ลงทุนต่อไป โดยกลยุทธ์หลักของการสร้างผลตอบแทนกลับมานั้น จะเริ่มจากการพัฒนาความร่วมมือ ด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับเทคสตาร์ทอัพขนาดใหญ่ (Giant Tech Startup) ที่มีศักยภาพ เพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรมและมีความเชื่อมโยงกับธุรกิจต่าง ๆ ของกรุงศรีกรุ๊ปให้มากขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทจะพยายามผลักดันให้สตาร์ทอัพที่เข้าลงทุนเติบโตขึ้น และสามารถเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งใดก็ตามในโลกได้ภายในช่วงปี 65-66 ซึ่งเป็นหนึ่งช่องทางที่บริษัทจะได้ผลตอบแทนเข้ามา อย่างเช่น Grab ที่เตรียมตัวจะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในสหรัฐฯ และ ICON Framework หนึ่งในผู้นำด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบการทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่บริษัทเข้าลงทุนล่าสุด โดยมีสัดส่วนลงทุน 10% หรือ 100 ล้านบาท ถือเป็นสตาร์ทอัพที่เข้ามาเสริมศักยภาพและความแข็งแกร่งของธุรกิจสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของกรุงศรีได้ในระยะยาว ได้วางแผนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในอีก 3 ปีข้างหน้าเช่นเดียวกัน
“การลงทุนจากนี้ไปเราจะหันมาเน้นการสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ช่วยสร้างรายได้ให้กับสตาร์ทอัพ และช่วยผลักดันโปรเจ็คท์ ต่าง ๆ ของสตาร์ทอัพให้ออกมาใช้ได้จริง ซึ่งเสริมเข้ามาจากช่วงแรกที่เราเข้าลงทุน ที่เน้นไปที่การเพิ่มโอกาสในการเทคโนโลยีให้กับเครือกรุงศรี ทำให้เรามีความรู้ มีพันธมิตรเข้ามาเสริมศักยภาพ แต่ตอนนี้เราวางแผนที่จะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น ทำให้เราต้องกลับมาเน้น Return ด้วย เพราะเราจะได้มีเงินทุนไปต่อยอดลงทุนต่อ”
นายแซม กล่าว
นอกจากนี้บริษัทได้ปรับแผนการดำเนินการงานที่มุ่งเน้นในการสร้างพันธมิตรและลงทุนในสตาร์ทอัพที่มีโอกาสเติบโตและมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เช่น e-Logistics การชำระเงินผ่านช่องทางออนไลน์ (Online Payment) การให้บริการด้านซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชั่นผ่าน (Software as a service : SaaS) และการส่งอาหาร (Food Delivery) เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากในอนาคต
ขณะที่ภายในปี 67 กรุงศรี ฟินโนเวต ตั้งเป้ายกระดับบริษัทเป็น Venture Capital เพื่อเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนทั่วไป และนักลงทุนสถาบัน เข้ามาลงทุนในกรุงศรี ฟินโนเวต ทำให้บริษัทมีแหล่งเงินทุนจากนักลงทุนเข้ามาเพิ่มและลดการพึ่งพาเงินลงทุนจาก BAY ทำให้บริษัทยกระดับการเป็น Venture Capital ได้อย่างเต็มตัวเพื่อขยายโอกาสในการลงทุนสตาร์ทอัพได้มากขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ส.ค. 63)
Tags: BAY, Startup, กรุงศรี ฟินโนเวต, สตาร์ทอัพ, แซม ตันสกุล