FDIC เล็งทำข้อตกลงแบ่งปันความเสียหายกับสถาบันการเงินหวังหนุนซื้อกิจการแบงก์ล้ม

บรรษัทรับประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) กำลังพิจารณาว่าจะเสนอข้อตกลงแบ่งปันความเสียหาย (loss-sharing agreements) ให้กับบริษัทเอกชนและสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารอื่น ๆ ที่เข้าซื้อกิจการของธนาคารที่ประสบปัญหาหรือไม่ หลังจากที่ FDIC ต้องถือครองพอร์ตสินเชื่อขนาดใหญ่ของซิกเนเจอร์ แบงก์ซึ่งล่มสลายลงในช่วงที่ผ่านมา

เจ้าหน้าที่ของ FDIC ระบุว่า ข้อตกลงดังกล่าวอาจดึงดูดให้บริษัทต่าง ๆ จำนวนมากขึ้น เสนอซื้อเงินกู้และสินทรัพย์จากธนาคารระดับภูมิภาคที่ล่มสลายลงเพราะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า FDIC อาจได้รับการเสนอซื้อกิจการธนาคารที่ประสบปัญหาเพิ่มขึ้นจากบริษัทต่าง ๆ ในวงกว้าง ด้วยข้อเสนอที่จะแบ่งปันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการซื้อทรัพย์สินดังกล่าว

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นับตั้งแต่เดือนมี.ค. บริษัทอะพอลโล โกลบอล แมเนจเมนต์ อิงค์, บริษัทแบล็คสโตน อิงค์ และสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ธนาคาร (nonbanks) ไม่สามารถซื้อสินทรัพย์ลดราคาจากธนาคารภูมิภาคของสหรัฐที่ประสบปัญหาได้อย่างง่ายดาย โดยบริษัทเหล่านี้เข้าร่วมการประมูลแบบเสียเปรียบ เพราะพวกเขาไม่มีกฎบัตรธนาคาร ดังนั้นจึงไม่สามารถเสนอราคาเพื่อซื้อสินทรัพย์ทั้งหมดของธนาคารที่ประสบปัญหาได้

ในขณะเดียวกัน FDIC ไม่ได้ควบคุมสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร ซึ่งอาจจะทำให้การกำกับดูแลข้อตกลงการแบ่งปันความเสียหายมีความซับซ้อน

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมมากขึ้นของบรรดาบริษัทที่ลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private Equity) สามารถบรรเทาภาวะตึงเครียดในกองทุนประกันของ FDIC ได้ โดย FDIC จะได้รับการเสนอราคาที่สูงขึ้นสำหรับสินทรัพย์ที่ FDIC เสนอขาย และจะช่วยป้องกันกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า FDIC ไม่ได้รับค่าตอบแทนอย่างเป็นธรรม

FDIC ได้รับประโยชน์จากการล่มสลายของธนาคารสองแห่งล่าสุดจากข้อตกลงแบ่งปันหุ้นกับธนาคารที่เข้าซื้อกิจการธนาคารที่ประสบปัญหา แต่มูลค่าหุ้นในส่วนของเจ้าของใหม่ได้พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ในขณะที่หุ้นที่ FDIC ถืออยู่นั้นมีปริมาณที่จำกัด ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามว่า FDIC สามารถที่จะเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้นได้หรือไม่

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 66)

Tags: , ,
Back to Top