ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) จัดทำข้อเสนอต่อพรรคการเมือง เพื่อให้ทราบถึงความต้องการของภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและแก้ปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 6 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ด้าน Competitiveness เช่น การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน
1.1 จากสถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลก มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ขอให้เร่งแก้ไขปัญหาค่าไฟฟ้าแพง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อในปัจจุบัน โดยมีข้อเสนอ เช่น
-
ขอให้ภาครัฐเร่งจัดตั้ง กรอ.พลังงาน เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นในการกำหนดนโยบายด้านพลังงาน
-
เร่งศึกษาโครงสร้างของต้นทุนด้านพลังงานของไทย เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงให้ต้นทุนด้านพลังงานของประเทศให้สามารถแข่งขันกับนานาชาติ
-
มีมาตรการรับมือในช่วงที่ราคาพลังงานมีความผันผวน และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้นโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell)
1.2 การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค มี 3 เรื่องสำคัญเร่งด่วน ดังนี้
-
ผลักดันการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม
-
เร่งรัดโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามแผนดำเนินงาน โดยเฉพาะระบบรางให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายรถไฟจีน-ลาว รองรับการขนส่งสินค้าและบริการ ให้มีต้นทุนเหมาะสม แข่งขันได้
-
จัดให้มีระบบอินเทอร์เน็ตที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล และ ส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัล (Digital literary) ให้กับประชาชนทุกระดับ พร้อมกับกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามภัยคุกคามทางไซเบอร์
1.3 สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน โดยส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม High Technology และนวัตกรรมใหม่ที่มีมูลค่าสูงและไม่มีมลภาวะ ส่งเสริมสิทธิประโยชน์สูงสุดให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมกับสากล โดยเฉพาะการจัดทำแผนสิทธิประโยชน์ดึงดูดการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน เป็นต้น
1.4 เร่งการเจรจา FTA ระหว่างไทยกับนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อขยายตลาดใหม่ ๆ สำหรับสินค้าไทย และเป็นการกระจายความเสี่ยงในตลาดเดิมที่มีอยู่ และสร้างโอกาสใหม่ในตลาดที่มีศักยภาพ เช่น กลุ่มประเทศยุโรป, แอฟริกา และลาตินอเมริกา
2. ด้าน Ease of Doing Business เช่น ปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเร่งปรับปรุงกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติอนุญาตภาครัฐ และที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจ
3. ด้าน Digital Transformation เช่น ส่งเสริมการเป็น Technology hub ของประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีซึ่งจะมีโอกาสสูงที่จะดึงเอาเม็ดเงินและทุนระดับโลกเข้าสู่ประเทศไทย
4. ด้าน Human Development เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ควรกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ มีการสนับสนุนระบบการจ่ายค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ (Pay by Skill) ยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงานให้ได้มาตรฐานสากล และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานไทย และต่างด้าว
5. ด้าน SME เช่น สนับสนุนให้มีมาตรการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว และเร่งการปรับโครงสร้างหนี้ และจัดตั้งกองทุนพัฒนาผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
6. ด้าน Sustainability เช่น ขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG และการจัดทำแผนรองรับปัญหาการขาดแคลนอาหาร (Food Security) แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ยกระดับมาตรการทั้งก่อน ขณะ และหลังเป็นหนี้ เน้นการมีวินัยด้านเครดิต และการเสริมความรู้ด้านการเงิน (Financial Literacy)
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 พ.ค. 66)
Tags: กกร., พรรคการเมือง