นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท. ปรับลดคาดการณ์การส่งออกรวมทั้งปี 66 เติบโตระหว่าง 0-1% (ณ เดือนพ.ค. 66) รวมมูลค่า 286,000-290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดือนก่อนที่คาดการณ์ไว้ที่ 1-2% เนื่องจากไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญในปี 66 หลายปัจจัย ได้แก่
1. เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลต่อทุกภาคส่วน อาทิ ภาคการเงิน การผลิต การส่งออก วัตถุดิบและพลังงาน
2. ต้นทุนการผลิตยังคงสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า และพลังงาน ซึ่งยังมีความผันผวนและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขัน
3. ปริมาณสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้ายังคงปริมาณสูง ส่งผลให้ความต้องการลดลง
4. ปัญหาสภาพอากาศที่ร้อนจัดทั่วโลก ส่งผลต่อการผลิตในภาคการเกษตร ผลผลิตออกไม่ตรงตามฤดูกาล
“ปรับลดส่งออกเหลือ 0-1% เนื่องจากยังมีปัจจัยลบเยอะ และมีปัจจัยที่ยังไม่รู้อีกเยอะมาก ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ การฟื้นตัวของจีนที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมทั้งวิกฤตภาคธนาคาร ขณะที่ยังไม่รู้ว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนจะเป็นอย่างไรต่อไป ถ้าจะให้ส่งออกถึง 2% การส่งออกและบรรยากาศต้องดีขึ้นกว่านี้ อย่างไรก็ดี ยังมั่นใจว่าทั้งปีจะไม่ติดลบ ไม่ต่ำกว่าปีก่อนแน่นอน” นายชัยชาญ กล่าว
ส่วนปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลต่อการส่งออกในปีนี้ ได้แก่
1. สถานการณ์ส่งออกไทยมีสัญญาณดีขึ้นในตลาดสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ตะวันออกกลาง แอฟริกา และญี่ปุ่น
2. เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาด จาก GDP ไตรมาสแรก และการส่งออกในเดือนมี.ค. ที่ขยายตัวถึง 4.5% และ 14.8% ตามลำดับ มีสัญญาณฟื้นตัวหลังจากผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์
สำหรับภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในไตรมาส 1/66 (เดือนม.ค.-มี.ค. 66) เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 70,280.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% ซึ่งดีกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนก่อนที่หดตัว 10% เนื่องจากการส่งออกดี โดยเฉพาะรถยนต์ ฮาร์ดดิสก์ และอัญมณี
เฉพาะในเดือน มี.ค.66 การส่งออกมีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัว 4.2% โดยกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 4.2%YoY และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม หดตัว 5.9%YoY
นายชัยชาญ กล่าวว่า ภาพรวมการส่งออกครึ่งปีแรกน่าจะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกชะลอ ต้องรอลุ้นการส่งออกช่วงครึ่งปีหลัง ส่งออกอาจมีการฟื้นตัวแบบเร่งได้ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 2/66 ตัวเลขส่งออกจะดีกว่าไตรมาส 1/66 แต่ยังหดตัวที่ 2.7% ส่วนครึ่งปีหลังคาดว่าจะกลับมาบวก ไตรมาส 3/66 ขยายตัวราว 0.6% และไตรมาส 4/66 ที่ 12%
ขณะที่สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกว่า แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) จะปรับลดกำลังการผลิต แต่คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่สูง อยู่ในช่วง 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล สำหรับสถานการณ์ค่าระวางเรือขณะนี้มีราคาถูก ระบบโลจิสติกส์ไม่น่ากังวล เป็นโอกาสดีของผู้ส่งออกสินค้า ส่วนสถานการณ์เงินบาทยังคงรักษาเสถียรภาพได้ดี ถ้ายังอยู่ในกรอบ 34.00-35.00 บาท/ดอลลาร์ ก็จะทำให้การส่งออกไปต่อได้
สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ ขอให้ภาครัฐบริหารจัดการการปรับค่าพลังงาน (ค่าไฟฟ้า FT) อย่างเหมาะสม เพื่อลดผลกระทบต่อต้นทุนของภาคการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อคู่ค้าคู่แข่งที่สำคัญ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 66)
Tags: ชัยชาญ เจริญสุข, ส่งออก, สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย, สรท.