สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนมี.ค.66 ว่า การส่งออก มีมูลค่า 27,654 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.2% การนำเข้า มีมูลค่า 24,935 ล้านดอลลาร์ ลดลง 7.1% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 2,718 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน
สำหรับการส่งออกในเดือนมี.ค.แม้จะยังหดตัว แต่มูลค่าการส่งออกถือว่าอยู่ในระดับสูง เนื่องจากการขยายตัวของการส่งออกกลุ่มสินค้าเกษตร เพราะเป็นช่วงฤดูกาลผลไม้ จึงทำให้มีการส่งออกไปตลาดจีนสูง ขยายตัวได้ถึง 2 หลัก นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ก็ขยายตัวได้ดี ซึ่งในภาพรวมแม้การส่งออกเดือนมี.ค.จะติดลบ แต่สินค้าหลายรายการสามารถพลิกกลับมาเป็นบวกได้
ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.66) การส่งออก มีมูลค่ารวม 70,280 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.5% การนำเข้า มีมูลค่า 73,324 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.5% ขาดดุลการค้า 3,044 ล้านดอลลาร์
“มูลค่าการส่งออกในเดือนมี.ค. ที่ระดับ 27,000 ล้านดอลลาร์นี้ สูงสุดในรอบ 12 เดือน ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก เป็นรองจากเดือนมี.ค.65 ที่การส่งออกอยู่ที่ 28,000 ล้านดอลลาร์ และไม่ได้ติดลบไปถึง 2 digit ตามที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน” นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค.ระบุ
พร้อมยังมั่นใจว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์จะผลักดันให้การส่งออกของไทยเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ 1-2% การที่จะทำให้การส่งออกในปีนี้ ขยายตัวได้ในระดับดังกล่าวนั้น ในแต่ละเดือนมูลค่าการส่งออกจะต้องได้เฉลี่ย 24,500 ล้านดอลลาร์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชนผู้ส่งออก ซึ่งจะทำให้การส่งออกเป็นไปได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ แม้หลายหน่วยงานจะมองว่าปีนี้มีโอกาสที่การส่งออกไทยจะไม่ขยายตัว หรือติดลบก็ตาม
“ทั้งปี เรายังมองไว้ที่โต 1-2% เฉลี่ยต้องให้ได้เดือนละ 24,500 ล้านดอลล์เราต้องตั้งเป้าไว้ให้ท้าทาย และทำงานให้หนัก เดือนมี.ค.ได้ 27,000 ล้านดอลล์แล้ว ดังนั้นที่เหลือเดือนละ 24,500 ล้านดอลล์ ก็ไม่น่าจะยาก” นายพูนพงษ์ ระบุ
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปนั้น ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากแรงกดดันด้านอุปสงค์ ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกยังอยู่ในระดับสูง ภาวะวิกฤตของสถาบันการเงิน ยังเป็นปัจจัยบั่นทอนต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคธุรกิจ รวมไปถึงความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อผันผวนของราคาพลังงาน
อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2566 ทั้งการรื้อฟื้นความสัมพันธ์และการเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และการทำความตกลงทางการค้าในระดับท้องถิ่นกับตลาดศักยภาพในจีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ช่วยสนับสนุนการนำรายได้เข้าสู่ประเทศ และคาดว่าจะช่วยประคับประคองการส่งออกของไทยให้ผ่านพ้นภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้
โดยกระทรวงพาณิชย์ จะมีการประชุมทูตพาณิชย์ และ กรอ.พาณิชย์ ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ ซึ่งจะร่วมกันกำหนดแผนระยะ 2 ในการเร่งรัดการส่งออกของไทย และร่วมกันกำหนดทิศทางต่างๆ เพื่อทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ยังมีการขยายตัวเป็นบวกได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
ด้านนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า การส่งออกเดือนมี.ค.นี้ หดตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยทำมูลค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (23,904.9 ล้านเหรียญสหรัฐ) และมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 12 เดือน
เมื่อพิจารณาการส่งออกในรายกลุ่มสินค้า พบว่าในเดือนมี.ค.66 สินค้าเกษตร มีมูลค่า 2,193 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 1.2% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าเกษตรที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง, ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง, ข้าว และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร มีมูลค่า 2,332 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 7.1% ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น น้ำตาลทราย, ไขมัน-น้ำมันจากพืชและสัตว์ และเครื่องดื่ม ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรม มีมูลค่า 22,236 ล้านดอลลาร์ ลดลง 5.9% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่ยังมีสินค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น รถจักรยานยนต์, เครื่องปรับอากาศ, อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ และไดโอด, หม้อแปลงไฟฟ้า เป็นต้น
“สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญหลายรายการ มีสัญญาณที่ดีจากการกลับมาเป็นบวกในตลาดที่มีสัดส่วนสำคัญต่อการส่งออกของไทย อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอินเดีย อีกทั้งยังกลับมาเกินดุลการค้าในรอบ 12 เดือน” รมช.พาณิชย์ ระบุ
สำหรับตลาดสำคัญของไทยที่การส่งออกขยายตัวสูงสุด 10 อันดับแรก ดังนี้ 1.รัสเซีย 138% 2. บรูไน 21.5% 3.ซาอุดีอาระเบีย 18% 4.แอฟริกาใต้ 16.4% 5.ญี่ปุ่น 10.2% 6.ลาว 8.6% 7.เม็กซิโก 6.7% 8.สหราชอาณาจักร 5.8% 9.อินโดนีเซีย 5.2% และ 10.เกาหลีใต้ 4.7%
ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าของไทยยังมีปัจจัยหนุนที่สำคัญ คือ 1.ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารจากประเทศคู่ค้ายังคงมีต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้บริโภคภายในประเทศ 2.การฟื้นตัวของการบริโภคภายในประเทศจีน ส่วนปัจจัยท้าทายที่สำคัญ คือ 1.ภาคการผลิตโลกมีแนวโน้มชะลตัวต่อเนื่อง 2.การส่งออกบางสินค้าอยู่ในช่วงขาลง ตามความต้องการที่ลดลงจากการสั่งซื้อสินค้าไปก่อนหน้านี้แล้ว
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า การส่งออกในเดือนมี.ค. ที่มูลค่าสูงถึง 27,000 ล้านดอลลาร์นั้น ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้มาก และในภาพรวมการส่งออกไตรมาส 1 ปีนี้ ก็ติดลบน้อยกว่าที่คาดไว้ ซึ่งหลังจากนี้ภาคเอกชนจะจับมือกับกระทรวงพาณิชย์ ผ่าน กรอ.พาณิชย์ ในการเดินหน้าแผนระยะ 2 เพื่อส่งเสริมการส่งออกของไทย รวมทั้งการขยายตลาดต่างประเทศ
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทนั้น ภาคเอกชนมีความพอใจต่อค่าเงินบาทในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34-35 บาท/ดอลลาร์ โดยมองว่าเป็นระดับที่เหมาะสม ไม่แข็งค่า หรืออ่อนค่าจนเกินไป สามารถแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งได้ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 เม.ย. 66)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ส่งออก, สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า