In Focus: ฝันร้ายที่หวนคืน ประมวลเหตุการณ์ลอบโจมตีผู้นำญี่ปุ่นครั้งใหม่ในรอบ 9 เดือน

ผ่านพ้นไปยังไม่ถึงปีที่นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นถูกลอบสังหารในระหว่างปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งวุฒิสภา มาตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญของญี่ปุ่นได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอีกครั้ง หลังจากผู้ก่อเหตุสามารถเข้าประชิดตัวและขว้างระเบิดควันใส่นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนปัจจุบัน แต่เคราะห์ดีที่เขาสามารถเอาตัวรอดได้อย่างหวุดหวิด แม้เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนี้จะไม่สร้างผลลัพธ์ที่น่าเศร้าแบบเดียวกับการลอบสังหารนายอาเบะเมื่อปีก่อน แต่ก็เกิดคำถามตามมามากมายในกลุ่มประชาชนรวมถึงประชาคมนานาชาติ

In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาทุกท่านไปจับตาสถานการณ์ล่าสุด พร้อมเจาะลึกสาเหตุ ความกังวล และความเป็นไปล่าสุดที่สั่นคลอนความปลอดภัยของสังคมญี่ปุ่น

 

*จาก “อาเบะ” สู่ “คิชิดะ”

“การกระทำที่รุนแรงเช่นนี้ ซึ่งบ่อนทำลายรากฐานของประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้โดยเด็ดขาด” นี้คือถ้อยแถลงของนายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นที่กล่าวประณามการโจมตีสุดป่าเถื่อน หลังถูกคนร้ายขว้างระเบิดควันเข้าใส่ระหว่างการปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งซ่อม และนับเป็นเหตุการณ์ลอบโจมตีผู้นำญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ในเวลาเพียง 9 เดือนหลังจากอดีตนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ถูกยิงเสียชีวิตในวันที่ 8 ก.ค.ปีที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 15 เม.ย. ขณะที่นายคิชิดะกำลังปราศรัยอยู่บริเวณท่าเรือเมืองวากายามะ เพื่อหาเสียงให้แก่สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ที่ลงรับสมัครเลือกตั้งซ่อมนั้น ชายนิรนามรายหนึ่งได้ขว้างระเบิดควันเข้าใส่นายคิชิดะ ซึ่งตกห่างจากนายคิชิดะเพียง 1 เมตร ก่อนที่จะเกิดเสียงระเบิดดังสนั่นและควันลอยฟุ้ง สร้างความตื่นตระหนกตกใจให้แก่ฝูงชนที่มาฟังปราศรัย

หลังเกิดเหตุระเบิด นายคิชิดะถูกอพยพออกจากที่เกิดเหตุทันที โดยที่ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด มีเพียงเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย และต้องยกเลิกกำหนดการกล่าวปราศรัยในเวลาต่อมา

ตำรวจญี่ปุ่นเข้าควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุขว้างระเบิดควันได้ทันที ซึ่งภายหลังมีการเปิดเผยชื่อว่า นายริวจิ คิมูระ อายุ 24 ปี จากการตรวจสอบในที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พบระเบิดควันอีกหนึ่งลูกที่ตกอยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งคาดว่าผู้ก่อเหตุจะประกอบขึ้นเอง รวมทั้งยังพบมีดขนาด 13 ซม.ในกระเป๋าสะพายหลัง

 

*มูลเหตุจูงใจยังคลุมเครือ

จนถึงขณะนี้ ยังไม่ทราบถึงมูลเหตุจูงใจที่ทำให้ผู้ต้องสงสัยรายดังกล่าวบุกมาก่อเหตุลอบทำร้ายนายคิชิดะ แต่เมื่อวันที่ 16 เม.ย. ตำรวจญี่ปุ่นได้บุกตรวจค้นบ้านพักของผู้ต้องสงสัยนานถึง 8 ชั่วโมง ในเมืองคาวานิชิ จังหวัดเฮียวโงะ และตรวจพบดินปืน วัตถุคล้ายท่อและเครื่องมือต่าง ๆ ภายในบ้านของผู้ต้องสงสัย

เจ้าหน้าที่สืบสวนเชื่อว่า ผู้ก่อเหตุประกอบระเบิดดังกล่าวขึ้นเองและพยายามตรวจสอบข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ส่วนตัวและเครื่องสมาร์ตโฟนเพื่อค้นหาแรงจูงใจเพิ่มเติม รวมถึงวิธีการประดิษฐ์ระเบิดเอง และแหล่งซื้ออุปกรณ์ทำระเบิด ซึ่งคล้ายกับกรณีของว่านายเท็ตสึยะ ยามากามิ วัย 42 ปี ผู้ต้องหาในคดีสังหารนายอาเบะ

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 18 เม.ย. หนังสือพิมพ์โยมิอูริของญี่ปุ่นรายงานว่า ผู้ต้องสงสัยรายนี้เคยมีประวัติเรียกร้องค่าเสียหายจากรัฐบาลญี่ปุ่น โอยอ้างว่าตนเองถูกกีดกันไม่ให้ลงสมัครเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2565 เพราะไม่เข้าเกณฑ์เรื่องต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี

รายงานอ้างเอกสารของศาลญี่ปุ่นระบุว่า นายคิมูระอ้างว่ากฎหมายเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย และเรียกร้องค่าเสียหาย 100,000 เยนสำหรับความบอบช้ำทางจิตใจที่เขาได้รับ แต่ศาลจังหวัดโกเบได้ยกฟ้องคำร้องดังกล่าว ซึ่งนายคิมูระได้ยื่นอุทธรณ์คำตัดสินของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์เมืองโอซากา และมีกำหนดไต่สวนในเดือนพ.ค.ที่จะถึงนี้

ด้านฮิเดโอะ โอกาโมโตะ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิกแห่งมหาวิทยาลัยสตรีนาราแสดงความเห็นว่า นายคิมูระอาจคิดว่าฝ่ายบริหารของนายคิชิดะปิดกั้นการสมัครรับเลือกตั้งของเขา ดังนั้น เขาจึงต้องการตอบโต้

 

*มาตรการดูแลความปลอดภัยหละหลวม

เหตุการณ์โจมตีนายคิชิดะครั้งนี้ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากต่อความล้มเหลวด้านการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการลอบสังหารอดีตนายกรัฐมนตรีอาเบะ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (NPA) ได้ยกระดับมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด

เมื่อปีที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นได้ปรับปรุงกฎและกระบวนการภายในเพื่อปกป้องบุคคลสำคัญเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี โดยกำหนดให้ตำรวจท้องถิ่นเตรียมแผนการรักษาความปลอดภัยก่อนที่บุคคลสำคัญจะเดินทางเยือน และส่งแผนนั้นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้าดำเนินการตรวจสอบขั้นสูงสุด

โยอิจิ ชิมาดะ ศาสตราจารย์ด้านการเมืองประจำมหาวิทยาลัยจังหวัดฟุคุอิมองว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่อีกครั้งของตำรวจญี่ปุ่น เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เรียนรู้อะไรจากความผิดพลาดครั้งก่อน การตรวจสอบความปลอดภัยของผู้ที่มาร่วมงานนั้นยังหละหลวมเกินไป

การปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนและการมีปฏิสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับฝูงชนเป็นสิ่งสำคัญต่อการหาเสียงเลือกตั้งของญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะว่า ควรมีระยะห่างหรือมาตรการความปลอดภัยที่เข้มงวด

ชิโร คาวาโมโต้ ศาสตราจารย์ด้านการจัดการความเสี่ยงและวิกฤตประจำมหาวิทยาลัยนิฮอนกล่าวว่า สถานที่ปราศรัยควรจัดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการตรวจสอบสัมภาระได้ และแยกพื้นที่ผู้ชมกับผู้ปราศรัยออกจากกันอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนเข้ามาและออกไปอย่างง่ายดายเกินไป

 

*ญี่ปุ่นสั่งยกระดับคุมเข้มการประชุม G7

เพียงไม่นานหลังเกิดเหตุลอบทำร้ายผู้นำซึ่งทำลายความเชื่อมั่นด้านการรักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่น นายคิชิดะออกโรงแถลงประกาศยกระดับคุมเข้มมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่ผู้นำที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G7 ที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะจัดขึ้น ณ เมืองฮิโรชิมาในเดือนพ.ค.

นายคิชิดะกล่าวว่า “ญี่ปุ่นจะพยายามอย่างเต็มที่เพื่อรักษาความปลอดภัยในช่วงวันที่มีการประชุม รวมถึงการประชุมอื่น ๆ ของบุคคลสำคัญจากทั่วโลกในญี่ปุ่น” พร้อมตอกย้ำว่ารัฐบาลจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อรับประกันความปลอดภัยให้กับแขกจากต่างชาติที่จะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้

สำหรับประเด็นนี้ นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประชุมระหว่างประเทศ เช่น การประชุมสุดยอด G7 นั้นแตกต่างจากมาตรการรักษาความปลอดภัยระหว่างหาเสียงเลือกตั้งที่มีผู้ฟังปราศรัยอย่างมาก เพราะบุคลากรที่ไม่เกี่ยวข้องจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงพื้นที่หรือตัวบุคคลสำคัญได้ ตลอดจนงานยังจัดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลด้วย

โรเบริต์ ดูจาร์ริก ผู้อำนวยการร่วมของสถาบันการศึกษาเอเชียร่วมสมัย ประจำมหาวิทยาลัยเทมเปิล วิทยาเขตโตเกียวแสดงความเห็นที่สอดคล้องว่า ผมไม่เห็นว่านี่เป็นปัญหาสำหรับผู้นำ G7 เนื่องจากเหล่าผู้นำคนสำคัญจากต่างชาติจะไม่พบปะกับประชาชนอยู่แล้ว โดยจะอยู่ในพื้นที่ที่มีการดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นสนามบินหลังจากเดินทางมาถึง ขบวนรถ โรงแรม และสถานที่จัดประชุมซึ่งจะได้รับการดูแลอย่างดีเป็นพิเศษ”

 

*อาวุธประดิษฐ์ ความกังวลใหม่ของสังคมญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งมีกฎหมายควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดที่สุด และมีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับปืนรายปีในอัตราที่ต่ำ โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับแก๊ง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีความกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับปืนและวัตถุระเบิดที่ทำขึ้นเอง และยิ่งสร้างความกังวลมากขึ้นหลังจากการลอบสังหารนายอาเบะด้วยอาวุธปืนที่ผู้ก่อเหตุผลิตขึ้นเอง

โนบุโอะ โคมิยะ ศาสตราจารย์ด้านอาชญาวิทยา ประจำมหาวิทยาลัยริสโชกล่าวว่า วัตถุระเบิดที่ประดิษฐ์ขึ้นเองกำลังกลายเป็นปัญหารุนแรงในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่แค่ระเบิด ทุกคนสามารถสร้างปืนจริงเองได้โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ อีกทั้งส่วนผสมของอาวุธเหล่านี้นั้นก็ถูกกฎหมายด้วย

มาตรการดูแลความปลอดภัยบุคคลสำคัญของญี่ปุ่น ตลอดจนความปลอดภัยของประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเป็นแนวทางการป้องกันการโจมตีจากอาวุธมีด โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของญี่ปุ่นได้รับการฝึกฝนมาเฉพาะการโจมตีด้วยมีด แต่ไม่มีประสบการณ์ในการจัดการกับระเบิดหรืออาวุธปืน

เมื่อช่วงต้นปี นายโคอิจิ ทานิ ประธานคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติญี่ปุ่นกล่าวว่า ตำรวจญี่ปุ่นต้องเตรียมพร้อมรับมือกับอาชญากรรมที่ใช้ปืนทำเอง ด้วยเหตุนี้ ตำรวจญี่ปุ่นจึงเพิ่มความพยายามในการตรวจจับการผลิตและการค้าอาวุธที่ผิดกฎหมายผ่านสายตรวจไซเบอร์ พร้อมกับขอให้เว็บไซต์ต่าง ๆ ลบวิธีการผลิตปืนและข้อมูลที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ด้วย

 

*ผู้นำญี่ปุ่น เป้าหมายใหม่ของการโจมตี?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายหลังการโจมตีผู้นำญี่ปุ่น 2 รายภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งปี หลายฝ่ายเกิดความกังวลต่อแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากการโจมตีนักการเมืองญี่ปุ่นในลักษณะเดียวกัน

เกียร์รอยด์ เรดดี้ นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านญี่ปุ่นจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กมองว่า นักการเมืองญี่ปุ่นตกเป็นเป้าการโจมตีรูปแบบใหม่ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลอบสังหารนายอาเบะเมื่อปีที่ผ่านมา เนื่องจากตลอดช่วงหลายเดือนหลังการเสียชีวิตของนายอาเบะ สื่อญี่ปุ่นนำเสนอข่าวในลักษณะที่เห็นอกเห็นใจอย่างแปลกประหลาดแก่นายยามากามิ ผู้ต้องหาในคดีสังหารนายอาเบะ และถึงกับตั้งประเด็นต่อต้านโบสถ์แห่งความสามัคคี (Unification Church) แทนที่จะตระหนักและมุ่งความสนใจไปที่การรักษาความปลอดภัยที่เลินเล่อของตำรวจ

นายเรดดี้มองว่า สื่อควรระมัดระวังในการรายงานข่าว โดยลดการรายงานที่เสี่ยงจะสร้างความชอบธรรมต่อการกระทำเหล่านี้ มิฉะนั้น การแพร่ระบาดของความรุนแรงที่ส่งผลให้เกิดการกราดยิงประชาชนในประเทศอื่น ๆ อาจจะเริ่มเกิดขึ้นในญี่ปุ่นก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์อีกฝ่ายกลับไม่มองว่านักการเมืองญี่ปุ่นจะตกเป็นเป้าหมายของการโจมตี โดยบ่งชี้ว่า ทั้งสองกรณีที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นการกระทำส่วนตัว อีกทั้ง กฎหมายปืนที่เข้มงวดของญี่ปุ่นทำให้การลอบสังหารเป็นไปได้ยาก

โรเบริต์ ดูจาร์ริก ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาเอเชียร่วมสมัยประจำมหาวิทยาลัยเทมเปิลแสดงความเห็นที่สอดคล้องว่า “การโจมตีนายอาเบะเป็นการกระทำที่แฝงด้วยความแค้นส่วนตัว และดูเหมือนว่าการลอบโจมตีนายคิชิดะครั้งนี้ก็เกิดขึ้นโดยผู้ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” พร้อมเสริมว่า “การโจมตีที่ประสานกันเป็นกลุ่มนั้นดูอันตรายมากกว่า”

 

แม้จะยังไม่มีใครคาดเดาอนาคตของญี่ปุ่น หลังเผชิญเหตุการณ์ลอบโจมตีผู้นำประเทศถึง 2 ครั้งภายในระยะเวลาอันสั้น แต่เราหวังว่าเหตุระทึกขวัญครั้งนี้จะกลายเป็นบทเรียนสำคัญด้านการรักษาความปลอดภัยที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องเอาใจใส่กันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำรอย และหวังให้เป็นบทเรียนแก่ชาติอื่น ๆ ในการเรียนรู้และนำไปปรับใช้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 66)

Tags: , , , , , ,
Back to Top