ธนาคารกลางจากหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเริ่มระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วในปีนี้ หลังจากธนาคารกลางทั่วโลกพยายามไล่ให้ทันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปี 2565
แม้เงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเคลื่อนไหวเหนือเป้าหมายของธนาคารกลาง แต่ปัญหาเรื่องการสร้างสมดุลด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินที่อ่อนค่าลงจากผลพวงของเงินดอลลาร์แข็งค่าในเดือนก.ย. เริ่มคลี่คลายลงแล้วในขณะนี้
ขณะนี้ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลงจากการคาดการณ์ว่า เฟดจะระงับวงจรคุมเข้มนโยบายการเงินเร็ว ๆ นี้ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกก็เคลื่อนไหวไม่สูงเท่ากับในสหรัฐและยุโรป โดยนักเศรษฐศาสตร์ของ BofA นำโดยนางเฮเลน เฉียวระบุว่า เงินเฟ้อในตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย “แตะระดับสูงสุดแล้วและเริ่มลดลง”
กลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า ธนาคารกลางบางประเทศอาจมาถึงจุดสิ้นสุดของวงจรการคุมเข้มนโยบายการเงินแล้วและเริ่มเปลี่ยนมามุ่งความสนใจไปยังการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการลดอัตราดอกเบี้ย โดยซิตี้และ ING อยู่ในกลุ่มนักวิเคราะห์ที่มองว่า จะเกิดความเคลื่อนไหวลักษณะนี้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้เป็นอย่างเร็ว
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BoK) เป็นธนาคารกลางแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ตรึงดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากเป็นหนึ่งในธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ที่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาด และอาจเป็นธนาคารกลางแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
นายเชว จีอุค นักเศรษฐศาสตร์ของซิตี้ระบุในวันที่ 12 เม.ย.ว่า “BoK มีแนวโน้มจะเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนส.ค.ปี 2566 จนเหลือ 2.00% ภายในสิ้นปี 2567”
นอกจากนั้น ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ก็เพิ่งตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปในเดือนมี.ค. เช่นเดียวกับธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ที่ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนเม.ย.
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางบางแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ย เช่น นิวซีแลนด์และไทย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 เม.ย. 66)
Tags: ธนาคารกลางสหรัฐ, ลดดอกเบี้ย, อัตราดอกเบี้ย, เฟด, เศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก, แบงก์ชาติ