คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2563 มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก แต่ยังต้องระวังความเสี่ยงจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 2
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบในปีนี้ ก่อนจะกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในปี 64 ตามที่ประเมินไว้ ส่วนเสถียรภาพการเงินมีความเปราะบางมากขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ กนง.คาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปีที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ปกติเหมือนในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากตั้งแต่ต้นปี มาตรการการคลังของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการการเงินและสินเชื่อที่ออกมาเพิ่มเติม ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย เอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียภาพระบบการเงิน
“คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และเห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้ครัวเรือนและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์”
นายทิตนันทิ์ระบุ
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในไทย และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวจะแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ด้านการส่งออกสินค้าเริ่มฟื้นตัวแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนการส่งออกบริการ นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ ขณะที่นักท่องเที่ยวในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศ
ด้านอุปสงค์หดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การจ้างงาน และรายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบรุนแรงจากเศรษฐกิจที่หดตัว และจะใช้ใช้เวลาฟื้นตัวนาน คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่ามาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน ส่งเสริมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง รวมถึงนโยบายด้านอุปทานเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลงด้วย
เลขานุการ กนง. กล่าวต่อว่า ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นบ้างตามราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีแนวโน้มติดลบในปี 2563 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงปี 2564 ตามราคาน้ำมันดิบที่จะทยอยปรับสูงขึ้น และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย
ด้านภาวะการเงิน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะที่ส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชน และพันธบัตรรัฐบาลยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ เพื่อทดแทนการออกตราสารหนี้ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs และสินเชื่ออุปโภคบริโภคชะลอลง แม้ว่าส่วนหนึ่งจะได้รับอานิสงค์จากมาตรการเลื่อนการชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น
ด้านอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทผันผวนสูงขึ้นจากการประชุมครั้งก่อน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทกลับมาโน้มแข็งค่าตามการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ คณะกรรมการฯ เห็นว่าหากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง
“คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงิน เร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจ ให้สอดคล้องกับกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ในบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) การค้ำประกันสินเชื่อโดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) การสนับสนุนสินเชื่อโดยสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นต้น”
นายทิตนันทิ์ระบุ
มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น
“อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังจากนี้ไม่ใช่พระเอกอีกต่อไป เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันได้ลดต่ำมามากเมื่อเทียบกับในอดีต ต่ำเป็นประวัติการณ์ และถือว่าเป็นระดับต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยทิศทางของเศรษฐกิจหลังจากนี้จะขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การดูแลเศรษฐกิจให้เกิดการฟื้นตัว เน้นเรื่องการจ้างงาน จำเป็นต้องประสานนโยบายทั้งมาตรการด้านการคลัง ควบคู่กับมาตรการด้านการเงินที่ต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง โดยในส่วนนโยบายการเงินยืนยันว่ายังมีกระสุนเพียงพอ และพร้อมที่จะนำออกมาใช้ตามความจำเป็น
“นายทิตนันทิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ส.ค. 63)
Tags: กนง., ดอกเบี้ย, ดอกเบี้ยนโยบาย, ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส, ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท.