เยอรมนียุติการทำงานของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 แห่งสุดท้าย ในฐานะส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนที่วางแผนมาอย่างยาวนาน
ทั้งนี้ การปิดการทำงานของเตาปฏิกรณ์เอ็มสลานด์ (Emsland), เน็คคาร์เวสธามทู (Neckarwestheim II), และอีซาร์ทู (Isar II) มีขึ้นเมื่อเวลาประมาณเที่ยงคืนวานนี้ (15 เม.ย.) ตามเวลาท้องถิ่นเยอรมนี
บริษัทอาร์ดับเบิลยูอี เอเนอร์จี (RWE energy) ระบุผ่านแถลงการณ์ว่า “ยุคสมัยได้สิ้นสุดลงแล้ว” เพื่อยืนยันว่า เตาปฏิกรณ์ทั้ง 3 เครื่องได้ถูกถอดออกจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เหล่านักวิจารณ์ยังคงยืนยันว่า เทคโนโลยีนี้ไม่ปลอดภัยและไม่ยั่งยืน โดยยกตัวอย่างถึงหายนะทางนิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นบนเกาะทรีไมล์ เชอร์โนบิล และฟูกุชิมะ
อย่างไรก็ตาม ผู้สนับสนุนการใช้พลังงานปรมาณูกล่าวว่า เยอรมนีควรเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลก่อน ท่ามกลางความพยายามทั่วโลกในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้เหตุผลว่า พลังงานนิวเคลียร์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ และสามารถเป็นแหล่งพลังงานที่ปลอดภัยได้หากได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม
ทั้งนี้ แผนการยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าวได้รับการผลักดันโดยนางแองเจลา แมร์เคิล อดีตนายกรัฐมนตรีของเยอรมนีในปี 2554 หลังเหตุการณ์ภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นที่จังหวัดฟูกุชิมะของญี่ปุ่น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 เม.ย. 66)
Tags: พลังงานนิวเคลียร์, เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์, เยอรมนี