เข้าสู่ฤดูเก็งงบแบงก์ไตรมาส 1/66 โบรกประเมินกำไรทั้งกลุ่ม 4.34 หมื่นล้านบาท เติบโตพุ่งขึ้นถึง 31% จากไตรมาส 4/65 แต่กลับหดตัว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหนุนสำคัญเทียบไตรมาสต่อไตรมาสมาจากแนวโน้มการตั้งสำรองฯของ 2 แบงก์ใหญ่ ได้แก่ KBANK และ KTB แนวโน้มลดลา โดยเฉพาะ KBANK ที่สร้างเซอร์ไพรส์การตั้งสำรองฯที่สูงแล้วในไตรมาสที่ผ่านมา
ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายต่างๆ น่าจะเห็นการปรับลดลงในไตรมาส 1/66 รวมถึงอานิสงส์ของดอกเบี้ยขาขึ้นช่วยให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) โตขึ้นตามไปด้วย แต่ภาพรวมสินเชื่ออาจยังไม่เห็นแววสดใสมากนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับฐานของสินเชื่อในไตรมาส 4/65 สูง เมื่อเทียบกันจึงยังใกล้เคียงเดิมหรือคงที่ แต่หากเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนคาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยราว 1.5% เพราะในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.66 สินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังมีภาพชะลอตัว
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พาย ระบุว่า หุ้นกลุ่มแบงก์ในไตรมาส 1/66 ที่มีโอกาสเห็นกำไรเติบโตได้ทั้ง QoQ และ YoY คาดว่าจะเป็น BBL, KTB และ TISCO จากปัจจัยหนุนสำคัญ คือ NIM เติบโตในระดับสูง และกลุ่มลูกหนี้ยังมีความสามารถชำระหนี้ในระดับที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลมาถึงการตั้งสำรองของทั้ง 3 แบงก์ที่คาดว่าจะลดลงในไตรมาส 1/66 เพราะทั้ง 3 แบงก์ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าตั้งสำรองฯสูงมาอย่างต่อเนื่อง และ Cost-to-income ยังอยู่ในระดับต่ำเช่นเดียวกัน ทำให้คาดว่าทั้ง BBL, KTB และ TISCO จะเห็นกำไรเติบโตทั้ง ทั้ง YoY และ QoQ
แบงก์ที่คาดว่ากำไรจะเติบโต QoQ แต่หดตัว YoY ได้แก่ KBANK, SCB และ KKP
แนวโน้มของปัจจัยสำคัญ คือ การตั้งสำรองฯที่จะเห็นทิศทางลดลงจากไตรมาส 4/65 โดยเฉพาะ KBANK ที่จะเข้ามาหนุนกำไรในไตรมาส 1/66 เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับ QoQ แต่อาจยังเห็นการชะลอตัวจากฐานสูงในไตรมาส 1/65 ประกอบกับยังคงเห็นการบักทึกค่าใช้จ่ายต่อเนื่องจากไตรมาส 4/65 โดยเฉพาะ SCB ที่มีค่าใช้จ่ายของกลุ่มธุรกิจในการขยายธุรกิจในเครือ ยังเป็นปัจจัยกดดันกำไรอยู่บ้าง
ส่วน KKP อาจมีแรงกดดันจากรายได้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนลดลงไปเมื่อเทียบกับปีก่อน รับผลกระทบภาพรวมตลาดหุ้นชะลอตัว และยังไม่มีดีล IPO ใหม่ ๆ ออกมา
ขณะที่หุ้นแบงก์ที่คาดว่าจะมีกำไรลดลง QoQ แต่เทียบ YoY แล้วยังเพิ่มขึ้น คาดว่า คือ TTB เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมองว่ากำไรถูกกดดันจากต้นทุนและค่าใช้จ่ายสูงขึ้น โดยเฉพาะ Cost-to-income มีโอกาสปรับสูงขึ้นในส่วนของสินเชื่อรายย่อยที่อัดแคมเปญการตลาดต่างๆ ออกมาค่อนข้างมาก ประกอบกับรายได้จากค่าธรรมเนียมลดลงจากไตรมาส 4/65 เนื่องจากกลุ่มลูกค้าซื้อประกันและกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษีไปมากแล้วในช่วงปลายปี แต่ยังมีแรงหนุนจากสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายฐานสินเชื่อ ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยเติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
หุ้นแบงก์ใหญ่ Top Picks ในไตรมาส 1/66 ได้แก่ BBL เป็นหุ้นแบงก์ที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง และไตรมาส 1/66 ยังเห็นกำไรเติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ คาดว่าการเติบโต 6% QoQ และ 13% YoY จากรายได้ดอกเบี้ย และ NIM สูงขึ้น เป็นผลจากการปรับขึ้นดอกเบี้ย และลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความสามารถชำระหนี้สูง และได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นไม่มากนัก อีกทั้งยังส่งผลบวกที่ทำให้ BBL มีความเสี่ยงในการตั้งสำรองฯน้อย และตั้งสำรองฯไว้ล่วงหน้าไว้เพียงพอแล้ว
แม้ว่าสินเชื่อของ BBL ในไตรมาส 1/66 จะไม่โดดเด่นมาก คาดว่าหดตัวเล็กน้อยราว 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังคงเป็นหุ้นแบงก์ที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพมากกว่าผู้เล่นอื่นๆ ถือว่าเป็นหุ้นแบงก์ใหญ่และแกร่ง อีกทั้งมูลค่าหุ้นยังไม่แพง โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 184 บาท/หุ้น
KTB เป็นอีกตัวที่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับการลงทุน แม้เศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวน แต่พอร์ตสินเชื่อและกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะล้อไปตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในทิศทางขาขึ้น และเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงที่ไม่สูงนัก ทั้งสินเชื่อภาครัฐและสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่ำ ทำให้แนวโน้มสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในไตรมาส 1/66 ทรงตัวจากไตรมาส 4/65 ที่ 3.3% และการตั้งสำรองฯคงไม่สูงขึ้น
แม้สินเชื่อจะยังโตเพียงเล็กน้อยราว 0.5% แต่ยังเห็นรายได้จากดอกเบี้ยที่ยังสูงขึ้นตามการขึ้นดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายที่ลดลง ประกอบกับ การส่งผ่านลูกค้าจาก “เป๋าตัง” มาสู่ Krungthai Next ช่วยหนุนลูกค้าขยายไปใช้บริการอื่น ๆ ได้มากขึ้น เป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจของ KTB และยังเป็นหุ้นที่คาดว่าจะเห็นกำไรเติบโตทั้ง QoQ และ YoY เช่นเดียวกัน โดยคาดว่ากำไรไตรมาส 1/66 จะเติบโต 10% QoQ และ 1% YoY และให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 20.70 บาท/หุ้น
ส่วนหุ้นแบงก์ขนาดกลางที่มองว่ามีความน่าสนใจ แม้ปีนี้แผนงานจะเน้นกลยุทธ์ในเชิงรัดกุม คือ KKP คาดว่าสินเชื่อในไตรมาส 1/66 จะเติบโตต่อเนื่องราว 3.8% แต่หันมาเน้นคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น ทำให้ทิศทางของ NPL จะกลับมาเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจะสะท้อนมาที่การตั้งสำรองฯเริ่มทรงตัวและค่อยๆ ลดลงตามลำดับ เมื่อการตั้งสำรองฯลดลงก็จะหนุนกำไร QoQ ให้เติบโตขึ้นราว 35% แต่หากเทียบ YoY คาดว่าจะลดลง 6% จากปัจจัยกดดันเพิ่มเข้ามาในส่วนของรายได้จากธุรกิจตลาดทุนที่ลดลงรัลผลกระทบภาวะตลาดหุ้นซบเซา และไม่มีดีล IPO ในช่วงต้นปี แต่ยังคงเป็นหุ้นที่มีมูลค่าน่าดึงดูดจากผลตอบแทนปันผลที่ดีต่อเนื่องเฉลี่ย 5% ต่อปี แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 74 บาท/หุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 เม.ย. 66)
Tags: BBL, KBANK, KKP, KTB, SCB, TISCO, หุ้นแบงก์, หุ้นไทย