นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ตรวจสอบและวินิจฉัยกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดทนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มีนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 54 ล้านคนๆ ละ 10,000 บาท จูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย โดยไม่บอกความจริงให้หมดนั้น เป็นการดำเนินการที่เข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับหรือไม่ อย่างไร
ทั้งนี้ การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลดังกล่าว เป็นการใช้ประชานิยมสุดขั้ว และอาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประโยชน์ของประชาชนวงกว้าง ทั้งทางบวก และทางลบ และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ และอาจขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
นอกจากนี้ การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ประกอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 โดยเคร่งครัด โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ซึ่งเงินจะเหลือถึงประชาชนจริงเพียง 8,500 บาทเท่านั้น และเมื่อสิ้นปีภาษี ประชาชนต้องแจ้งเป็นรายรับต่อสรรพากร รวมทั้งร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลด้วย ดังนั้นการบอกความจริงไม่หมด จึงเข้าข่ายเป็นการหลอกลวงจูงใจให้เข้าใจผิด ตามมาตรา 73(5) ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561
“ที่สำคัญ กรณีนี้สุ่มเสี่ยงต่อเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะนายเศรษฐา เคยเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้บริหารธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน แล้ววันนี้จะระบุว่าโอนหุ้นทั้งหมดให้ลูกสาว และลาออกจากผู้บริหารใน บมจ. แสนสิริ แต่สังคมจะวางใจได้อย่างไรว่าการประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับอดีตธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลของนายเศรษฐา และยังอาจเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 44 แห่งพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 2561 ด้วยหรือไม่”นายศรีสุวรรณ ตั้งข้อสังเกต
พร้อมระบุว่า การหาเสียงแจกเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยดังกล่าว กกต. ต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนทราบถึงคำอธิบายของพรรคเพื่อไทยที่รายงานมายัง กกต.ด้วยว่า 1.วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการมาจากแหล่งใด 2.ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3.ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย เพราะหากไม่สามารถชี้แจงได้ก็อาจเข้าข่ายฝ่าฝืน มาตรา 73(1) และ (5) แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 66)
Tags: กกต., คณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคการเมือง, พรรคเพื่อไทย, ศรีสุวรรณ จรรยา, เงินดิจิทัล, เลือกตั้ง, เศรษฐา ทวีสิน