ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเสถียรภาพระบบการเงินไทย ประจำไตรมาส 1/2566 พบว่า ระบบการเงินไทยยังมีเสถียรภาพ แต่หากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ค่าครองชีพและต้นทุนการผลิตปรับเพิ่มขึ้น จนกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ผ่านความสามารถในการชำระหนี้ที่ด้อยลงของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ และการสูญเสียความเชื่อมั่นของนักลงทุน
สำหรับความเสี่ยงรายด้าน มีรายละเอียดดังนี้
– ภาคครัวเรือน ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และกลุ่มเปราะบางมีแนวโน้มด้อยลง จากค่าครองชีพที่เร่งตัวขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความเปราะบางสะสมของครัวเรือนเพิ่มขึ้น จากปัญหาภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูง และรายได้ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน โดยเฉพาะในภาวะที่ค่าครองชีพสูงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ
– ภาคธุรกิจ โดยธุรกิจขนาดใหญ่ ผลประกอบการและฐานะฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก และการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ขณะที่ SMEs สินเชื่อขยายตัวได้เล็กน้อยจากมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ และความต่อเนื่องของการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละภาคธุรกิจ และโดนซ้ำเติมจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ไม่สามารถส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภคได้เต็มที่
– ภาคอสังหาริมทรัพย์ ตลาดที่อยู่อาศัยมีสัญญาณฟื้นตัวจากอุปทานที่เร่งตัวขึ้น และธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับการพิจารณาสินเชื่อของกลุ่มผู้กู้ที่มีกำลังซื้อ ตอบสนองการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV อย่างไรก็ดี ความต้องการซื้อยังคงชะลอตัว จึงต้องติดตามภาวะอุปทานคงค้างในระยะต่อไป
– ระบบธนาคารพาณิชย์ ความเสี่ยงอยู่ในระดับปานกลาง โดยผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน จากค่าใช้จ่ายสำรองที่ลดลงเป็นสำคัญ แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังคงระมัดระวัง โดยทยอยตั้งเงินสำรองหนี้สูญและสะสมเงินกองทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ รวมถึงปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อในบางภาคส่วนทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจกดดันความสามารถการทำกำไรในระยะข้างหน้า
สำหรับคุณภาพสินเชื่อของ Non-bank ภายใต้การกำกับยังทรงตัว ขณะที่ Non-bank ขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ ยังมีความมั่นคง
– ภาคสหกรณ์ สหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีสภาพคล่องส่วนเกิน ยังขยายการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินอย่างต่อเนื่อง และอาจได้รับผลกระทบ หากตลาดการเงินมีความผันผวนสูงขึ้น จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน
– ตลาดการเงิน กลไกตลาดยังทำงานได้ปกติ แต่ต้องติดตามพฤติกรรม search for yield และความผันผวนในตลาดการเงินโลก จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่อาจส่งผ่านมาสู่ตลาดการเงินไทย ทั้งนี้ภาคเอกชน สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนได้ และยังไม่พบสัญญาณปัญหา rollover risk
นอกจากนี้ นักลงทุนขยายการลงทุนในกองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง หรือให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้ (DFI) เพิ่มการลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชน เพื่อเพิ่มผลตอบแทน
– เสถียภาพภาคต่างประเทศ ยังคงเข้มแข็ง และมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามดุลบัญชีเดินสะพัดที่ขาดดุลลดลง เงินสำรองระหว่างประเทศยังอยู่ในระดับสูง และเพียงพอสำหรับชำระหนี้ต่างประเทศระยะสั้น
– ภาค Digital asset ความเสี่ยงและนัยของเสถียรภาพระบบการเงินไทยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ แต่ต้องติดตามต่อเนื่องเพราะตลาดมีความผันผวนสูงและขยายตัวเร็ว ทั้งนี้ ตลาดมีความเสี่ยงที่จะผันผวนมากขึ้นจากความไม่แน่นอนของตลาดการเงิน และแม้ว่ามูลค่าการซื้อขายคริปโทเคอเรนซี่ เฉลี่ยต่อวันยังต่ำ รวมถึงขนาดของบัญชีไม่ใหญ่ แต่การเข้าถึงคริปโทเคอเรนซี่ ในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีจำนวนนักลงทุนที่เปิดบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่สถาบันการเงิน ภาคธุรกิจ ขยายธุรกิจเข้ามาในตลาดคริปโทเคอเรนซี่มากขึ้น ทำให้ ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง ต้องร่วมกันกำหนดแนวทางกำกับดูแลการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 เม.ย. 66)
Tags: ธนาคารแห่งประเทศไทย, ธปท., ภาคครัวเรือน, ภาคธุรกิจ, ยูเครน, ระบบการเงินไทย, รัสเซีย, อัตราเงินเฟ้อ