ทองปิดพุ่ง $37.80 รับดอลล์อ่อน-บอนด์ยีลด์ร่วง

สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ในวันอังคาร (4 เม.ย.) โดยตลาดยังคงได้ปัจจัยบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ

  • ทั้งนี้ สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนมิ.ย. พุ่งขึ้น 37.80 ดอลลาร์ หรือ 1.89% ปิดที่ 2,038.20 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565
  • สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.08 ดอลลาร์ หรือ 4.50% ปิดที่ 25.101 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนก.ค. เพิ่มขึ้น 32.60 ดอลลาร์ หรือ 3.27% ปิดที่ 1,029.00 ดอลลาร์/ออนซ์
  • สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 2.30 ดอลลาร์ หรือ 0.2% ปิดที่ 1,455.70 ดอลลาร์/ออนซ์

สัญญาทองคำได้รับแรงหนุนอย่างต่อเนื่องจากการอ่อนค่าของดอลลาร์และการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ โดยดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลดลง 0.5% แตะที่ 101.5858 และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีลดลงสู่ระดับ 3.352% เมื่อคืนนี้

ทั้งนี้ การอ่อนค่าของดอลลาร์ทำให้สัญญาทองคำซึ่งกำหนดราคาเป็นดอลลาร์นั้น มีราคาถูกลงและน่าดึงดูดใจสำหรับนักลงทุนที่ถือสกุลเงินอื่น ๆ ส่วนการร่วงลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจะช่วยลดต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดอลลาร์อ่อนค่าลงนั้น มาจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ประจำเดือนก.พ. พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานปรับตัวลง 632,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 9.9 ล้านตำแหน่งในเดือนก.พ. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2564 และต่ำกว่าระดับ 10 ล้านตำแหน่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2564 รวมทั้งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.4 ล้านตำแหน่ง

ทางด้านกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า คำสั่งซื้อภาคโรงงานของสหรัฐร่วงลง 0.7% ในเดือนก.พ. ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลงเพียง 0.5% หลังจากดิ่งลง 2.1% ในเดือนม.ค. ส่วนยอดสั่งซื้อสินค้าทุนพื้นฐาน ที่ไม่รวมหมวดอาวุธและเครื่องบิน ลดลง 0.1% ในเดือนก.พ. โดยยอดสั่งซื้อประเภทนี้เป็นมาตรวัดความเชื่อมั่นและแผนการใช้จ่ายในภาคธุรกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 เม.ย. 66)

Tags: , ,
Back to Top