สัมภาษณ์พิเศษ: คิดต่างมุมกับ TPLAS ไขทางรอดในยุค “Sunset industry” รับกระแสลดใช้ถุงพลาสติกมาเร็วกว่าคาด
ผู้ผลิตถุงพลาสติกไทย ยอมรับเครียดปรับตัวไม่ทัน รับผลกระทบประกาศลดใช้ถุงพลาสติกเร็วกว่ากำหนดเดิม พร้อมแตะเบรกลงทุน เสนอรัฐบาลทบทวนนโยบายแบนถุงพลาสติก หวั่นกระทบมูลค่าบริโภคเศรษฐกิจหดตัว แนะทางออกต้องบริหารขยะอย่างมีประสิทธิภาพ และควบคุมปริมาณใช้ถุงพลาสติกไมให้เกินความจำเป็น
ดีเดย์มาตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 เมื่อร้านสะดวกซื้อชื่อดังและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายราย ประกาศงดแจกถุงพลาสติกให้กับลูกค้า เป็นตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (ปี59-64) ของรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมปลอดขยะ (Zero Waste Society) พร้อมกับรัฐบาลยังคงตั้งเป้าหมายในปี 64 จะยกเลิกการใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียวทิ้ง 4 ชนิด ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้ว, หลอดพลาสติก, แก้วพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง และกล่องโฟม นับว่าเร็วขึ้นกว่าแผนเดิม 1 ปี
ผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลวิ่งตรงดิ่งเข้าสู่อุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงพลาสติกในไทยทันที กลายเป็นคำถามว่าอุตสาหกรรมผู้ผลิตถุงพลาสติกในไทยกำลังจะเป็นอุตสาหกรรมตะวันตกดิน “sunset industry” ล้มหายตายจากกันมากน้อยอย่างไร และมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศที่หดหายไปจะคุ้มค่าหรือไม่กับการใช้นโยบายยกเลิกการใช้พลาสติก ??
ผู้ผลิตถุงพลาสติก”เครียด”บางรายปรับตัวไม่ทัน
ในมุมมองแตกต่างออกไปในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตถุงพลาสติกรายใหญ่ของไทย นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) (TPLAS) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการผลิตถุงพลาสติกในไทย ทุกคนล้มเลิกแนวคิดที่จะขยายกำลังการผลิตต่อไปแล้ว ทุกอย่างเข้าสู่ภาวะชะงักไปหมด เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลว่าจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไรต่อไป และจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอีกหรือไม่
ทั้งนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะส่งสัญญาณเมื่อกลางปี 62 ว่าในปี 63 จะเริ่มประกาศงดแจกถุงพลาสติก แต่ยอมรับว่าเป็นปีที่”เครียด” มาก เพราะนอกจากภาวะเศรษฐกิจฐานรากไม่ดี หนี้ครัวเรือนยังสูง เป็นปัญหาใหญ่ของการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว ยังมาถูกซ้ำเติมจากการดิสรัปโดยรัฐบาลอีก กลายเป็นได้รับผลกระทบ 2 เด้ง
“ผมอยากให้รัฐทบทวนเรื่องนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกเพราะตามโรดแมพของรัฐบาลคือเริ่มปี 67 แต่กลับมาเริ่มใช้ปี 63 บางรายปรับตัวไม่ทัน เพราะการลงทุนไม่ใช่แค่ลงทุนชั่วข้ามคืนหรือข้ามปี แต่การลงทุนในธุรกิจอะไรก็แล้วเป็นการพลิกชีวิต ถ้าให้เลิกทำถุงแล้วไปทำสินค้าตัวไหนก็ยังไม่รู้
ฉะนั้น รัฐบาลควรมีระยะเวลาเตรียมตัว และบอกแนวทางว่าควรจะเตรียมตัวอย่างไร อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรมต้องเข้าไปแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อให้เตรียมตัวที่จะถูกดิสรัปโดยรัฐบาล บางคนอยู่กับธุรกิจนี้มาทั้งชีวิต ไม่สามารถเอาตัวรอดได้ สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนที่ล้มเหลว สิ่งที่ผมเป็นห่วงไม่ได้ห่วงกระเป๋าเงินตัวเองหรือเพื่อนร่วมวงการ แต่ผมเป็นห่วงคนงานหลายพันคน หรืออาจถึงหลายหมื่นคน ผมคิดว่ามาตรการออกมาควรคำนึงถึงองค์รวมด้วย ไม่ใช่แค่แก้ไขปัญหาตรงนี้จุดเดียว”
เสนอ 2 ทางออกรัฐ คุมปริมาณใช้ถุง-บริหารจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ
นายธีระชัย ระบุว่า ทางออกที่คิดว่าเหมาะสม คือ ถ้ารัฐบาลยังคงมีการรณรงค์ต่อไป ก็ควรโฟกัสในสิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการใช้ถุงพลาสติกเท่าที่จำเป็น ซึ่งก็ช่วยลดลงปริมาณขยะได้เป็นจำนวนมาก อาทิ ลดการใช้ถุงซ้อน 2 ใบกับสินค้าที่ไม่จำเป็น กำหนดแนวทางให้ผู้ใช้กับผู้ขายเข้ามาอยู่ในจุดตรงกลาง ควบคุมไม่ให้ใช้ถุงพลาสติกในจำนวนที่”เฟ้อ”จนเกินไป
และอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือรัฐบาลต้องมีแนวทางการบริหารจัดการขยะ แม้ว่าจะยกเลิกการใช้ถุงพลาสติกหูหิ้ว แต่เชื่อว่ามีความต้องการถุงขยะ ฉะนั้นวันนี้รัฐบาลเข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เห็นมาตรการกำจัดขยะนอกจากโยนขึ้นรถไม่ได้มีการคัดแยกขยะ ทั้งนี้ เมื่อมีแนวทางบริหารจัดการใน 2 ส่วนอย่างมีประสิทธิภาพเชื่อว่าปัญหาถุงพลาสติกไหลลงไปในทะเลคงไม่เกิดขึ้น
งดแจกถุงพลาสติกโดยสิ้นเชิงกระทบบริโภคในประเทศ
นายธีระชัย กล่าวว่า จากการงดแจกถุงพลาสติกกับลูกค้าของร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายราย อันดับแรกคือยอดขายร้านค้าปลีกจะลดลงอย่างชัดเจน เพราะคนจะเข้าไปซื้อสินค้าที่ที่ต้องการซื้อเท่านั้น พฤติกรรมการซื้อและการถือสินค้าของผู้บริโภคจะมีจำกัด ในกรณีคำนวณจากรัฐบาลประกาศว่าจะลดใช้ถุงพลาสติกจำนวน 4.5 หมื่นล้านใบต่อปี สมมตินำสินค้าออกจากถุงพลาสติก 1 ชิ้นในราคาชิ้นละแค่ 20 บาท แล้วนำไปคูณกับ 4.5 หมื่นล้านใบ จะคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะหายไปเท่าใด ยังไม่นับรวมกับมูลค่าของวงการเกี่ยวข้องกับผู้ผลิตถุงพลาสติก ดังนั้นเชื่อว่าผู้ที่เดือดร้อนไม่ใช่แค่คนในวงการผู้ผลิตถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ผลกระทบอาจเป็นวงกว้างกว่าที่หลายๆคนคิด
TPLAS เร่งปรับตัว หันเข้าสู่บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก
นายธีระชัย กล่าวว่า บริษัทถือว่ามีความโชคดี เพราะมองเห็นปัญหานี้มาสักระยะหนึ่งแล้ว การรณรงค์เริ่มมาจากต่างประเทศก่อนจะเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่อาจจะผิดพลาดจากแผนเดิมคือคาดว่ารัฐบาลจะยกเลิกในปี 67 ทำให้ปีนี้เป็นปีที่ต้องเร่งรีบ เพราะเวลาการปรับตัวหายไป 3-4 ปี หรือเวลาปรับตัวแบบเต็มที่แค่ 5-6 เดือนเท่านั้น
แนวทางรับมือคือบริษัทปรับการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการลูกค้าที่มีฐานกว่า 5 พันราย พร้อมกับขยายตลาดเข้าสู่สินค้าใหม่ประเภทฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหารภายใต้ตราสัญลักษณ์ “Vow Wrap” และ บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษจากเยื่อไผ่เพื่อใช้ใส่อาหารภายใต้แบรนด์ “B-LEAF” ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตมูลค่าตลาดกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษจะมีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลเตรียมประกาศนโยบายยกเลิกใช้กล่องโฟมเช่นกัน
ปัจจุบันโครงสร้างรายได้หลักของ TPLAS มาจากธุรกิจถุงหูหิ้ว 20% และถุงบรรจุอาหารประมาณ 60% และที่เหลือเป็นฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร และ บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษใส่อาหารจากเยื่อไผ่
“ผมคิดว่าเราก็โชคดีที่เราเข้ามาตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อปี 61 เพราะได้เปรียบ การระดมทุนง่ายกว่าการเป็นบริษัทจำกัด คิดว่าจากนี้ไปคงต้องใช้เครื่องมือระดมทุนในตลาดทุนบ้าง วันนี้บริษัทมี Roadmap อยู่แล้วในช่วง 1-2 ปี ข้างหน้าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
แม้ว่าสินค้าพลาสติกยังคงอยู่เช่นเดิม แต่จะไปคาดหวังการเติบโตคงยาก เพราะนโยบายรัฐบาลจะออกกฎหมายยกเลิกเด็ดขาดหรือไม่ เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ แต่เรามีความเชื่อว่าการดิรัปจากรัฐบาลเราไม่ได้โดนทั้งร้อยเปอร์เซนต์ ซึ่งในอนาคตไม่แน่ว่าเราอาจจะเป็น last man standing ก็เป็นไปได้”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 63)
Tags: TPLAS, ถุงพลาสติก, หุ้นไทย