นายเซวียน ชางเหนิง รองผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยในวันนี้ (31 มี.ค.) ว่า จีนจะเพิ่มการกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะการเงินรูปแบบใหม่ ไม่ควรได้รับการยอมรับโดยปราศจากการตรวจสอบอย่างละเอียดรอบคอบ
ทั้งนี้ นายเซวียนกล่าวในที่ประชุมโป๋อ่าว ฟอรั่ม (Boao Forum) ประจำปี ณ มณฑลไห่หนาน โดยระบุว่า สกุลเงินดิจิทัลและคริปโทเคอร์เรนซีไม่เพียงไม่ช่วยแก้ปัญหาทางการเงิน แต่ยังสร้างปัญหาใหม่ ๆ ขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม นายเซวียนไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนในการดำเนินการ เพื่อเพิ่มการกำกับดูแลด้านเศรษฐกิจดิจิทัล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบของจีนได้เพิ่มการตรวจสอบภาคฟินเทค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายป้องกันความเสี่ยงทางการเงินในวงกว้าง
นับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 ทางการจีนได้เพิ่มข้อจำกัดในธุรกิจแพลตฟอร์มออนไลน์ด้านการเงิน หลังขยายตัวอย่างรวดเร็วมานานหลายปี โดยระบุว่าจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างนวัตกรรมทางการเงินและความปลอดภัย
ต่อมาในปี 2564 หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบของจีนได้สั่งห้ามการซื้อขายและการขุดคริปโทฯ ท่ามกลางความกังวลว่าคริปโทฯอาจขัดขวางความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญสูงสุดของจีน
ทั้งนี้ จีนกล่าวเมื่อต้นเดือนนี้ว่า จะจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบแห่งใหม่ เพื่อยกระดับการกำกับดูแลอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน ซึ่งนักวิเคราะห์กล่าวว่า รัฐบาลจีนมีเป้าหมายเพื่อปิดช่องโหว่ทั้งหมด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 มี.ค. 66)
Tags: PBOC, เซวียน ชางเหนิง, เศรษฐกิจดิจิทัล, แบงก์ชาติจีน