การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และธนาคารกรุงไทย ร่วมผลักดัน “บัตรเหมาจ่าย” เพื่อชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. ด้วยบัตรเดียว ราคาเดียว 2,000 บาทต่อเดือน ยกระดับคุณภาพบริการ ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สำหรับการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารแบบบัตรเหมาจ่ายเป็นการเริ่มและทดลองใช้บริการผ่านระบบ EMV Contactless ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยใช้บัตรเหมาจ่ายในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถเมล์ ขสมก.ได้อย่างไม่มีขอบเขต โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถนั่งได้ถึง 50 เที่ยวหรือ 30 วันต่อเดือน เช่นเดียวกัน รถเมล์ ขสมก.ก็สามารถนั่งได้แบบไม่จำกัดตลอด 30 วัน
บัตรใบนี้มีมูลค่าต่อเดือน 2,000 บาท ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงมีผู้โดยสารกว่า 20,000คนต่อวัน และรถเมลล์ ขสมก. มีผู้โดยสารกว่า 7 แสนคนต่อวัน
สำหรับการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารแบบบัตรเหมาจ่ายได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก รฟท.และ ขสมก.ริเริ่มและทดลองใช้บริการผ่านระบบ EMV Contactless ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บัตรเหมาจ่ายชำระค่าโดยสารในการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถโดยสาร ขสมก. ได้อย่างไร้รอยต่อ โดยรถไฟฟ้าสายสีแดงสามารถใช้บริการได้ 50 เที่ยว รถโดยสาร ขสมก. ใช้บริการได้ทุกเส้นทาง ไม่จำกัดจำนวนเที่ยว ภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่งบัตรโดยสารดังกล่าว จำหน่ายในราคา 2,000 บาท (ไม่รวมค่าธรรมเนียมออกบัตร)
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รฟท. กล่าวว่า รฟท. เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคมในเชิงรุก ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มุ่งเน้นการบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายกับระบบขนส่งมวลชนต่างๆ รวมถึง การนำเอาเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมาปรับใช้ในการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน ซึ่งการนำเทคโนโลยี EMV Contactless หรือ Europay MasterCard and VISA ที่เป็นระบบการชำระเงินที่ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าโดยสารในระบบคมนาคมตามมาตรฐานระดับสากล
จากความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาบัตรเหมาจ่ายไปสู่ระบบตั๋วร่วมที่สมบูรณ์แบบ สามารถใช้สำหรับการเดินทางของประชาชนในภาคขนส่งให้สามารถเชื่อมต่อการเดินทางได้ในทุกระบบ ด้วยการใช้บัตรโดยสารหรือตั๋วร่วมเพียงหนึ่งใบ หรือสามารถนำไปซื้อสินค้า ชำระค่าบริการต่างๆ เชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินได้ภายในอนาคต
นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการ ขสมก. กล่าวว่า ตามที่ได้รับนโยบายจากรัฐบาลและรมว.คมนาคม ในการพัฒนาและบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ขสมก. จึงได้บูรณาการร่วมกับ รฟท. และธนาคารกรุงไทย พัฒนาบัตรโดยสารร่วมที่สามารถใช้บริการได้ทั้งรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่ออำนวยความสะดวก และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้กับประชาชน ถือเป็นการนำร่องระบบตั๋วร่วม ระหว่างระบบล้อ และระบบราง เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อสร้างความพึงพอใจและประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน
นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติและยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มีส่วนในการสนับสนุนนโยบายตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคมในการสร้างภาพลักษณ์และความร่วมมือที่ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชน ได้ใช้บริการรถโดยสาร และรถไฟฟ้าผ่านบัตรร่วม ในราคาที่เป็นธรรม สอดคล้องและรองรับกับค่าครองชีพในปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทาง บรรเทาความเดือดร้อนของผู้โดยสาร ลดภาระค่าครองชีพของประชาชน
นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศที่เป็นกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงทุกวิถีการใช้ชีวิต นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ธนาคารจึงได้วางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้การคมนาคมขนส่งเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก (Ecosystems) ที่ธนาคารมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และในอนาคตมีแผนเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อการบูรณาการตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 มี.ค. 66)
Tags: การรถไฟแห่งประเทศไทย, กิตติพัฒน์ เพียรธรรม, ขสมก., ค่าโดยสาร, ธนาคารกรุงไทย, นิรุฒ มณีพันธ์, พริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์, รถโดยสาร, รถไฟฟ้าสายสีแดง, รฟท., สุเทพ พันธุ์เพ็ง, องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ