ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้นได้เกิดเหตุการณ์ปัญหาทางการเงินที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกต่างพากันให้ความสนใจ คือเหตุการณ์สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่รู้จักกันในนาม Silicon Valley Bank หรือที่เรียกโดยย่อว่า SVB ต้องปิดตัวลงไปเนื่องจากผู้คนจำนวนมากต่างไปถอนเงินของตนออกจากธนาคาร จนทำธนาคารขาดสภาพคล่อง หรือที่เรียกกันว่า Bank Run
เนื่องจาก SVB เป็นสถาบันการเงินที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง และ มีส่วนสำคัญในภาคเศรษฐกิจและสังคม นักเศรษฐศาสตร์หลายคนจึงมีความเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คือวิกฤติการณ์ Bank Run ที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤติทางการเงินครั้งใหม่และมีผลกระทบต่อสถาบันการเงินอื่น ๆ ลามไปถึงระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ในบทความนี้จะอธิบายถึงธรรมชาติของ Bank Run และ วิธีการจัดการที่กฎหมายไทยได้ระบุไว้เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจ และ สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม
เมื่อพูดถึงเรื่อง Bank Run ควรเข้าใจถึงความหมายของคำดังกล่าวเป็นอันดับแรก กล่าวคือ Bank Run นั้นคือสถานการณ์ที่ลูกค้าของสถาบันทางการเงินหรือธนาคาร (ในที่นี้ขอเรียกรวมกันว่า “ธนาคาร”เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น) ต่างพากันถอนเงินเป็นปริมาณมากในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน โดยมีสาเหตุมาจากความกลัว หรือ ความกังวล ว่าธนาคารที่ตนนำเงินไปฝากนั้นจะล้มละลาย และจะไม่สามารถชำระเงินที่พวกตนนำไปฝากคืนได้
เนื่องจากธนาคารส่วนใหญ่จะทำการเก็บเงินที่ลูกค้านำมาฝากไว้เพียงบางส่วนเท่านั้นด้วยเหตุผลทางความปลอดภัย เมื่อลูกค้าทำการถอนเงินในลักษณะดังกล่าวย่อมทำให้ธนาคารเข้าสู่สภาวะขาดสภาพคล่อง เพราะต้องทำการหาเงินมาชำระตามที่ลูกค้าจำนวนมากต้องการถอนให้ครบถ้วน หากธนาคารไม่สามารถนำเงินมาชำระให้แก่ลูกค้าได้ทันตามความต้องการ ลูกค้าทั้งหลายก็จะตื่นตระหนกและต่างพากันมาถอนเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายสุดแล้วธนาคารจะแบกรับภาระที่ต้องหาเงินมาชำระให้แก่ลูกค้าไม่ไหว และ ต้องปิดตัวลงในที่สุด
วิกฤติการณ์ Bank Run นี้เคยเกิดขึ้นในอดีตมาก่อน เช่น เหตุการณ์ในปี 1930 ซึ่งเป็น 1 ปีหลังจากเหตุการณ์ตลาดหุ้นพัง และเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารหลายแห่งในโลกไม่มีเงินพอที่จะชำระให้แก่ผู้ฝากเงินของตนที่ต้องการถอนเงิน จนทำให้เกิดความแตกตื่น และผู้ฝากเงินก็รีบมาถอนเงินกันมากขึ้นเพราะกลัวว่าตนจะไม่ได้เงินฝากของตนครบ
ในประเทศไทยเองนั้นก็เคยเกิด Bank Run กับธนาคารออมสิน ในปี พ.ศ. 2557 เนื่องจากรัฐบาลได้ให้ธนาคารออมสินปล่อยกู้ให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นระยะเวลาทั้งหมด 30 วัน เพราะนโยบายจำนำข้าว ประชาชนต่างพากันไปถอนเงินออกจากธนาคารออมสินเพราะขาดความเชื่อมั่นในนโยบายดังกล่าวจนทำให้เงินสดในธนาคารออมสินบางสาขานั้นถูกถอนจนหมด
จะเห็นได้ว่าปัญหา Bank Run นั้นเกิดขึ้นจากความตื่นตระหนก หรือ ความกลัวว่าผู้ฝากเงินจะไม่ได้รับเงินที่ตนฝากคืนเมื่อธนาคารประสบปัญหาทางธุรกิจ หรือ ธนาคารต้องปิดตัวลง ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวในประเทศไทยขึ้นอีกครั้ง ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศอย่างแน่นอน ผู้เขียนจึงได้ทำการวิเคราะห์ข้อกฎหมายในประเทศไทยที่จะเข้ามาคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าทั้งหลายในกรณีที่ธนาคารต้องปิดตัวลง ดังนี้
ในเรื่องของเงินฝากนั้น ประเทศไทยได้มีกฎหมายที่ได้ระบุถึงสิทธิและหน้าที่ของทั้งธนาคาร และ ผู้ฝากเงินในเรื่องอันเกี่ยวกับการจ่ายเงินฝากคืนให้แก่ลูกค้าในกรณีที่ธนาคารต้องปิดตัวลงไว้ในพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. 2551
ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ได้ทำการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ Deposit Protection Agency (DPA) เพื่อเข้ามาทำการคุ้มครองเงินฝากในสถาบันทางการเงิน เสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบการเงิน ดำเนินการกับสถาบันการเงินที่ถูกควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และ ชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต
และได้จัดทำกองทุนคุ้มครองเงินฝากเพื่อเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงินเพื่อสะสมไว้ใช้ในการจ่ายคืนเงินให้แก่ผู้ฝากเงินในกรณีที่สถาบันการเงินใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต กล่าวโดยง่ายก็คือกฎหมายไทยนั้นได้สร้างองค์กรที่จะมาคุ้มครองเงินฝากของลูกค้าในกรณีที่ธนาคารต้องปิดตัวลง โดยการนำเงินจากกองทุนคุ้มครองเงินฝากที่ธนาคารต้องทำการส่งเงินให้ตามกฎหมายมาใช้ในการชำระให้แก่ลูกค้าตามเงินที่ลูกค้าได้ทำการฝากไป
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของท่าน ขอให้แจ้งให้ทราบว่ากฎหมายได้มีข้อจำกัดในเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองอยู่หลายข้อ จึงขอยกข้อจำกัดที่น่าสนใจดังนี้
ประการแรก คือ ยอดเงินสูงสุดของเงินที่จะได้คืนคือ 1 ล้านบาทเท่านั้น กล่าวคือหากมียอดเงินในบัญชีทั้งหมดรวมกันเกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป ผู้ฝากก็จะได้เงินฝากคืนเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น โดยจะได้รับคืนภายในระยะเวลา 30 วัน
ประการที่สอง คือ เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองนั้นคือเงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงินที่นำมาคำนวนยอดเงินฝากถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้นจนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่เงินฝากดังกล่าวนั้นมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท และ ต้องเป็นเงินฝากภายในประเทศ อีกทั้งต้องไม่ใช่เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชีเงินบาทของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมแลกเปลี่ยนเงิน
และประการสุดท้าย คือ กฎหมายได้ระบุถึงวิธีการจ่ายเงินคืนนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นผู้ฝากควรให้ความสนใจในประกาศที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการจ่ายเงิน เพื่อรักษาสิทธิของท่าน
จากที่กล่าวมานั้น กฎหมายในประเทศไทยได้มีการเตรียมการรับมือกับปัญหาของการที่ธนาคารนั้นโดนเพิกถอนใบอนุญาตหรือกล่าวโดยง่ายคือต้องปิดตัวลง ดังนั้นประชาชนจึงไม่ควรตื่นตระหนก หรือ หวาดกลัวและพากันรีบไปถอนเงินออกจากธนาคารจนกลายเป็นปัญหา Bank Run ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบไปยังธนาคารอื่น แต่ยังอาจมีผลกระทบทางลบต่อสภาพเศรษฐกิจ และ การเงินของประเทศอีกด้วย
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ ทนายความหุ้นส่วนบริหาร กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล ประจำสถาบันอนุญาโตตุลาการ (THAC)
และภูมิพัฒน์ บำรุงผล ที่ปรึกษากฎหมาย กลุ่มบริษัทอเบอร์
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 มี.ค. 66)
Tags: Bank Run, Cryptocurrency, Decrypto, SCOOP, Silicon Valley Bank, SVB, คริปโทเคอร์เรนซี, ธนาคารสหรัฐ, ปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ, สินทรัพย์ดิจิทัล