ZoomIn: แกะรอยสถิติหุ้นเด้งก่อนเลือกตั้ง กลุ่มค้าปลีก-อาหารโดดเด่นสุด

ชัดเจนแล้ว…หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ซึ่งหากนับจากวันนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งก็จะเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนกับอีก 13 วัน โดยสถิติดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้งประมาณ 3 เดือนและ 1 เดือนจะปรับตัวขึ้น

และในช่วงที่ผ่านมาหลังจากประกาศยุบสภาในวันที่ 20 มี.ค.6 ดัชนี SET ฟื้นตัวกลับขึ้นมาหลังจากได้รับผลกระทบสถานการณ์วิกฤตแบงก์ในสหรัฐและยุโรปที่ทำให้ระหว่างวันร่วงลงไปแรง และรีบาวด์ได้ในวันถัดมา (21 มี.ค.66) หลังจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนแล้ว

นายวทัญ จิตต์สมนึก ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์กลยุทธ์ บล.พาย ประเมินดัชนี SET มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในก่อนการเลือกตั้ง โดยอ้างอิงจากการการศึกษาข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย แบ่งออกเป็น 3 รอบ

1.รอบปี 2548 รอบที่ นายทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 ของนายกรัฐมนตรี พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 และ 1 เดือน SET Index ปรับขึ้นโดดเด่นพร้อมกับกลุ่มได้ประโยชน์จากการเลือกตั้ง อาทิ อาหาร ค้าปลีก ธนาคารฯ และอสังหาฯ อย่างไรก็ตามหลังเลือกตั้ง 1 และ 3 เดือน SET ปรับลง แต่ค้าปลีกกับอาหารยังคงปรับขึ้นไปต่อได้

2.รอบปี 2554 รอบที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 และ 1 เดือน SET Index ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีเหตุการณ์น้ำท่วม แต่ยังเป็นอีกครั้งที่กลุ่มค้าปลีกและอาหารปรับขึ้นโดดเด่น ส่วนหลังเลือกตั้งทั้ง 1 และ 3 เดือน SET Index ปรับลง โดยมีกลุ่มค้าปลีกปรับขึ้นเพียงกลุ่มเดียวที่โดดเด่นสุด

3.รอบปี 2562 รอบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่าก่อนการเลือกตั้ง 3 เดือน SET index ปรับเพิ่มขึ้นพร้อมกับกลุ่มค้าปลีก อาหาร ธนาคารฯ และรับเหมาก่อสร้าง แต่ 1 เดือนก่อนการเลือกตั้ง SET index และหลายๆ อุตสาหกรรมปรับลงมีเพียงกลุ่มอาหารที่ปรับขึ้น

ทั้งนี้ หลังการเลือกตั้งยังเป็นอีกครั้งที่สถิติชัดเจนคือ 3 เดือนหลังการเลือกตั้ง SET Index ปรับลง ส่วนหลังเลือกตั้ง 1 เดือน กลุ่มรับเหมาก่อสร้างโดดเด่นสุด

ดังนั้น โดยสรุปจากข้อมูลในอดีตชี้ว่าก่อนการเลือกตั้งส่วนใหญ่แล้ว SET มักจะปรับขึ้น และกลุ่มค้าปลีกกับอาหารโดดเด่นสุด แต่หลังเลือกตั้งสถิติชัดเจนว่าตลาดหุ้นมักปรับลดลง

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล, CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ราว 1-2 เดือนจากนี้ คาดจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกโดยเฉลี่ย 2-3% และมีระดับความเชื่อมั่นโดยเฉลี่ยสูงถึง 70% โดยหุ้นที่มีการเชื่อมโยงกับการเมือง หรือการเลือกตั้งก็น่าจะได้แรงหนุนสูง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก, ไฟแนนซ์ และอสังหาริมทรัพย์บางตัว เช่น SC, SIRI เป็นต้น

ขณะที่เป้าหมายดัชนีในช่วงก่อนการเลือกตั้ง ประเมินว่าจะยังไม่ถึง 1,700 จุด จากยังมีความไม่แน่นอนของภาคธนาคารในสหรัฐและยุโรป แม้ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวจะคลี่คลายไปบ้างแล้วก็ตาม

บล.กรุงศรี พัฒนสินฯ ระบุว่า กกต.กำหนดวันเลือกตั้งใหญ่แล้ว คือ วันที่ 14 พ.ค.66 เปิดรับสมัครส.ส. แบ่งเขต 3-7 เม.ย.66 ปาร์ตี้ลิสต์ 4-7 เม.ย.66 คาดเป็นประเด็นสร้างจิตวิทยาบวกต่อตลาดต่อเนื่อง โดยรอบนี้เชื่อว่าลุ้นในเรื่อง Election Rally ได้ไม่ต่ำกว่าผลตอบแทนในอดีตช่วง 5-6 เดือน ระหว่างเลือกตั้งที่ระดับ 6-7% จากองค์ประกอบ SET ปัจจุบันที่มี Valuation อยู่ในโซนน่าลงทุน PER2023 อยู่ที่ 15.4 เท่า (vs Avg 17.3 เท่า)

นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้ม.หอการค้าไทย คาดว่าเม็ดเงินที่

จะสะพัดช่วง 1 เดือนการเลือกตั้งจะสูงขึ้นเป็น 1-1.2 แสนล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่คาด 5-6 หมื่นล้านบาท โดยกระตุ้น GDP ราว +0.5% ถึง +0.7% ขณะที่หนุนหุ้น Election Plays ที่อิงเศรษฐกิจภายในต่อเนื่อง อาทิ ADVANC, INTUCH, THCOM, PR9, SC, SIRI, NWR, ITD,CPALL, MAKRO, CRC, AMATA, WHA, PLANB

หลังจากที่มีการกำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน คาดจะเป็นผลบวกต่อเม็ดเงินหาเสียงรอบนี้ โดยอิงจากข้อมูลของหอการค้าไทย ที่มีการประเมินสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้ง จะทำให้เกิดกิจกรรมการรณรงค์หาเสียงที่เข้มข้นขึ้นกว่าทุกครั้ง คาดจะมีเงินสะพัดสูงขึ้นเท่าตัวสู่ 1-1.2 แสนล้านบาท

มองเป็นบวกต่อหุ้น Election Rally เช่น สื่อสาร, ค้าปลีก และธนาคารพาณิชย์ รวมถึงบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top