หลังรัฐบาลประกาศยุบสภาและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กางไทม์ไลน์กำหนดให้วันที่ 14 พ.ค.66 เป็นวันเลือกตั้ง ชาวโซเชียลตื่นตัวพร้อมแล้วกับการไปใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินอนาคตประเทศไทย หลังรอคอยมายาวนานตั้งแต่ปี 62 แม้มีบางคนยังห่วงเรื่องของวันเลือกตั้ง ความโปร่งใสของขั้นตอนและกติกา รวมถึงเสนอแนะการจัดการป้ายหาเสียงให้เหมาะสม
DXT360 แพลตฟอร์มติดตามข่าวสารและเสียงของผู้บริโภค (Social Listening) ของบริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้รวบรวมการพูดถึงการเลือกตั้งปี 66 ในสื่อโซเซียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ยูทูป และ ทวิตเตอร์ ช่วงวันที่ 20-22 มี.ค.66 หลังรัฐบาลประกาศยุบสภาและมีการกำหนดไทม์ไลน์เลือกตั้ง พบว่า มียอดโพสต์ ทวีต โดยค่าปฏิสัมพันธ์ (Engagement) สูงถึงกว่า 1.41 ล้านครั้ง โดยเป็นชาย 42% และหญิง 58% แบ่งเป็นช่องทางเฟซบุ๊ก 1,102,267 อินสตราแกรม 189,400 ยูทูป 93,944 และ ทวิตเตอร์ 27,679
กกต.โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า 14 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.00-17.00 น. รับบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เข้าคูหากากบาทแบบแบ่งเขตฯ เลือกคนที่รัก แบบบัญชีฯ เลือกพรรคที่ชอบ โดยเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ที่ https://www.thaivote.info พร้อมติดแฮชแทค #ไทยโหวตคนไทยพร้อมใช้สิทธิ เพื่อเป็นการโหมโรง ขณะที่พรรคการเมืองต่างก็ทยอยเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.อย่างต่อเนื่อง และระดมกำลังกระจายกันลงพื้นที่หาเสียงอย่างจริงจัง ทั้งในพื้นที่จริงและโซเชียลมีเดีย
ขณะที่ชาวเน็ตแสดงความคิดเห็นหลากหลายต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่สนใจที่จะไปใข้สิทธิเลือกตั้ง และต้องการศึกษากติกา ระบบการเลือกตั้งครั้งนี้ที่มีความแตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งก่อน โดยจะต้องมีการกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ คือ เลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และผู้สมัครในบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์)
และ อยากให้องค์การอิสระที่เป็นหลักในการจัดการเลือกตั้ง คือ กกต. มีความโปร่งใส หากรักความเป็นประชาธิปไตย ควรทำให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องง่ายๆ ไม่ทำให้เกิดความสับสน อย่างกรณีการกำหนดหมายเลขผู้สมัครส.ส.เขต และบัญชีรายชื่อที่แตกต่างกัน
ขณะที่นิวโหวตเตอร์ที่เพิ่งได้สิทธิเลือกตั้งรอบนี้ กังวลจะเสียสิทธิ เพราะวันเลือกตั้ง 14 พ.ค. อาจชนกับวันสอบของหลายมหาวิทยาลัย ที่กำหนดวันสอบในช่วงวันที่ 8-22 พ.ค. ขณะที่วันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต วันที่ 7 พ.ค.ชนวันหยุดยาวอีก
ทั้งนี้ เว็บไซต์ของ กกต.ชี้แจงประเด็นการไปใช้สิทธิเลือกตั้งว่า ผู้ที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้จริงๆ กกต.เปิดให้แจ้งเหตุที่ไม่ไปใช้เลือกตั้งได้ภายใน 7 วันทั้งก่อนและวันเลือกตั้ง (7-13 พ.ค. และ 15-21 พ.ค.) เพื่อป้องกันเสียสิทธิอื่นๆ ทางการเมือง เช่น การลงสมัคร ส.ส. ตำแหน่งทางการเมือง หรือสิทธิทางการเมืองต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีผู้ตั้งข้อสงสัยถึงการได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมือง ของพรรคการเมืองต่าง ๆ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชิงยุบสภาก่อนสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ จะมีผลทำให้พรรคใดได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งนี้หรือไม่ เพราะมีข้อแตกต่างกับการปล่อยให้สภาฯ หมดวาระไปตามธรรมชาติ ทั้งประเด็นการกำหนดวันเลือกตั้ง และกำหนดระยะเวลาผู้สมัครที่ต้องสังกัดพรรค 30 วันกรณียุบสภา หรือ 90 วันกรณีปล่อยให้สภาครบวาระ
รวมถึงประเด็นการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ยังสร้างข้อถกเถียงกันในสังคมโซเชียล ซึ่งนักวิชาการเองออกมาแสดงความเห็นในเรื่องนี้ โดยนางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้อิงกับหลักการว่าแต่ละเขตเลือกตั้งภายในจังหวัดเดียวกัน ควรมีค่าเบี่ยงเบนไม่เกิน 10% ของค่าเฉลี่ย เป็นระเบียบใหม่ที่ กกต.เขียนขึ้นเอง และเพิ่งเริ่มใช้ครั้งแรก เพิ่มเติมจากเกณฑ์สำคัญ 3 ประการที่ใช้มาก่อนหน้านี้ คือ ให้แต่ละเขตมีพื้นที่ติดต่อกัน เป็นการแบ่งเขตที่อ้างอิงจากในอดีต และให้มีจำนวนราษฎรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน
การตัดสินใจของ กกต. อาจจะเป็นความหวังดี ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่างเขต ก็ได้ (malapportionment ต่างจากการแบ่งเขตที่พื้นที่ติดต่อกันเป็นกิ้งก่าเลื้อย หรือ Gerrymandering คือ เขตกิ้งก่าเลื้อย อาจมีสัดส่วนประชากรในแต่ละเขตใกล้เคียงกัน แต่พื้นที่ติดต่อกันเล็กจิ๋ว ไม่ใช่ชุมชนที่ผู้เลือกตั้งเชื่อมต่อ รู้จักคุ้นเคย)
เขตเลือกตั้งที่สัดส่วนประชาชนแตกต่างกันมาก จะส่งผลให้น้ำหนักคะแนนเสียงของประชาชนแตกต่างกัน เช่น บางเขตมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 2 แสนคน บางเขตมี เพียง 9 หมื่นคน ซึ่งเป็นปัญหาในหลายประเทศ อาจส่งผลให้พรรคซึ่งได้คะแนนเสียงโหวตมากกว่าได้ที่นั่งในสภาน้อยกว่า ไม่ว่าเราจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยกับวิธีคิดของ กกต. ที่ตั้งค่าเฉลี่ยไว้เพียง 10% และยึดหลักการนี้เหนือหลักเขตปกครองในอดีต แต่เรื่องนี้ต้องไม่กลายมาเป็นข้ออ้าง ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เมื่อผลเลือกตั้งไม่เป็นไปตามประสงค์อย่างเด็ดขาด
และระบุว่าโจทย์ใหญ่ที่สุดสำหรับสังคมไทย คือ การทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นสถาบัน กล่าวคือ มีการเลือกตั้งตามวาระ อย่างสม่ำเสมอ ผู้เล่นในระบบการเมืองเคารพกติกา และทุกฝ่ายยอมรับผลเลือกตั้ง การที่ทุกฝ่ายจะยอมรับผลเลือกตั้ง การแข่งขันต้องอยู่ภายใต้กติกาที่ทั้งผู้เล่น กรรมการ และคนดู เข้าใจตรงกัน การเปลี่ยนกติกาบ่อย และไม่เคารพกติกา จึงเป็นอันตรายต่อการทำให้การเลือกตั้งมีความเป็นสถาบัน และย้อนกลับมาบ่อนทำลายประชาธิปไตย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มี.ค. 66)
Tags: DXT360, Social Listening, กกต., การเมือง, ดาต้าเซ็ต, เลือกตั้ง, โซเชียลมีเดีย