นายมาร์โค โคลาโนวิช นักวิเคราะห์จากเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โคกล่าวว่า วิกฤตการเงินของภาคธนาคาร รวมทั้งภาวะปั่นป่วนในตลาดการเงิน และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังต่อสู้กับวิกฤตเงินเฟ้อที่ระดับสูงนั้น ทำให้เศรษฐกิจโลกมีโอกาสมากขึ้นที่จะเผชิญกับภาวะที่เรียกว่า “Minsky Moment”
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า Minsky Moment ตั้งชื่อตามนายไฮแมน มินสกี้ (Hyman Minsky) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันและศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เพื่ออธิบายถึงช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมาถึงจุดสิ้นสุดของภาวะเฟื่องฟู ซึ่งจะผลักดันให้นักลงทุนยอมเสี่ยงที่จะกู้เงินเกินตัวจนไม่สามารถชำระคืนได้ และเมื่อถึงจุดนั้น นักลงทุนก็จะเทขายสินทรัพย์ออกมาเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดสำหรับชำระหนี้เงินกู้ ซึ่งสถานการณ์เช่นนั้นจะส่งผลให้ตลาดล่มสลายลงในที่สุด
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกเผชิญกับเหตุการณ์ที่น่าวิตกมากมาย ซึ่งรวมถึงการที่ธนาคาร 3 แห่งในสหรัฐล้มละลาย, ตลาดการเงินผันผวนอย่างรุนแรง, วิกฤตการณ์การเงินที่เกิดขึ้นกับเครดิต สวิส จนทำให้ต้องถูกเทกโอเวอร์กิจการโดยธนาคารยูบีเอส และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเหตุการณ์ต่อไปที่นักลงทุนจับตานั้นคือผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันพุธนี้ รวมทั้งทางเลือกต่าง ๆ ที่เฟดจะนำมาใช้เพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ในภาคธนาคารและปัญหาเงินเฟ้อ
“ต่อให้ธนาคารกลางทั่วโลกประสบความสำเร็จในการควบคุมการลุกลามของวิกฤตภาคธนาคาร แต่ก็จะมีการควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพราะถูกแรงกดดันจากทั้งตลาดการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลด้านการเงิน” ทีมนักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนซึ่งนำโดยนายโคลาโนวิชระบุในรายงานที่ส่งถึงลูกค้าเมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.)
นายโคลาโนวิชกล่าวว่า เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันพุธนี้ พร้อมกับแนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ที่ระมัดระวังในการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง และซื้อหุ้นกลุ่มปลอดภัย (Defensive) เก็บเอาไว้ในพอร์ต โดยหุ้นปลอดภัยหมายถึงหุ้นที่สามารถต้านทานวัฏจักรทางเศรษฐกิจได้ดี เช่น หุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคและกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 มี.ค. 66)
Tags: การเงิน, ธนาคาร, มาร์โค โคลาโนวิช, วิกฤตการเงิน, เจพีมอร์แกน, เศรษฐกิจโลก