“สี จิ้นผิง” เผยแผนสันติภาพยูเครน สะท้อนความเป็นเอกภาพโลก

ภาพ: รอยเตอร์

นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เปิดเผยในวันนี้ (20 มี.ค.) ว่า ข้อเสนอของจีนเกี่ยวกับแผนการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ในยูเครนได้สะท้อนถึงมุมมองจากทั่วโลกและเป็นการพยายามแก้ไขผลกระทบที่ตามมาอย่างเป็นกลาง แต่ก็ยอมรับว่าการแก้ไขปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในบทความที่เผยแพร่ในช่วงเริ่มต้นเดินทางเยือนรัสเซียของนายสีนั้น เขาได้เน้นย้ำถึงแนวทางการใช้หลัก “ปฏิบัตินิยม (Pragmatism)” กับยูเครน โดยการเยือนครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำโลกเดินทางเยือนรัสเซีย นับตั้งแต่ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงหนังสือพิมพ์รอสซีอิสกายา กาเซตา ของรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า นายสีได้แจงไว้ว่าข้อเสนอแผนการสันติภาพ 12 ข้อของจีนที่เผยแพร่เมื่อเดือนที่แล้ว ได้แสดงถึง “มุมองของประชาคมโลกที่มีความเป็นเอกภาพมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

“แผนการนี้ถือเป็นปัจจัยที่เป็นประโยชน์ในการทำให้ผลกระทบที่ตามมาของวิกฤตมีความเป็นกลาง และส่งเสริมการบรรลุข้อตกลงทางการเมือง ส่วนปัญหาที่ซับซ้อนนั้นไม่มีหนทางแก้ไขที่ง่าย” นายสีกล่าว พร้อมกับเสริมว่า การแก้ไขปัญหาอย่างสันติต่อสถานการณ์ในยูเครนจะเป็นการรับประกันถึงเสถียรภาพของการผลิตและห่วงโซอุปทานทั่วโลก

นายสีได้เรียกร้องให้มีการใช้แนวทางที่มีเหตุผลเพื่อออกจากวิกฤต ซึ่งจะพบเห็นได้ก็ต่อเมื่อทุกคนได้รับการแนะนำจากแนวคิดที่ครอบคลุมเรื่องความมั่นคงและยั่งยืนร่วมกัน การดำเนินการเจรจาและปรึกษาหารืออย่างเสมอภาค รอบคอบ และเป็นไปได้จริง

รายงานระบุว่า นายสีพยายามนำเสนอจีนในฐานะผู้สร้างสันติภาพโลก และมองว่าจีนเป็นมหาอำนาจผู้มีความรับผิดชอบ จีนยังคงวางตัวเป็นกลางอย่างเปิดเผยในประเด็นความขัดแย้งในยูเครน ในขณะเดียวกันก็ได้วิพากษ์วิจารณ์การคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่มีต่อรัสเซีย และเน้นย้ำความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับรัสเซีย

ทั้งนี้ นายสีกล่าวว่า การเดินทางเยือนรัสเซียมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างสองประเทศ และพันธมิตรที่ครอบคลุมทุกด้านและปฏิสัมพันธ์เชิงกุลยุทธ์ ในโลกที่ถูกคุกคามโดยผู้ที่กระทำตนเยี่ยงมหาอำนาจ เผด็จการ และการกลั่นแกล้ง

“ไม่มีรูปแบบการปกครองที่เป็นสากล และไม่มีกฎระเบียบโลกที่ระบุว่าการชี้ขาดเป็นของประเทศเดียว” นายสีเผย “ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วโลกและสันติภาพที่ปราศจากความแตกแยกและความวุ่นวาย คือผลประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ”

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top