เลือกตั้ง’66: ก้าวไกล เปิดนโยบายสุขภาพไทยก้าวหน้า ชู “2 เพิ่ม-2 ลด”

พรรคก้าวไกล เปิดนโยบายสุขภาพไทยก้าวหน้า ชี้ความเสี่ยงสาธารณสุขไทยพังทลาย บุคลากรทางการแพทย์งานหนัก-พักน้อย โรงพยาบาลคนไข้ล้น ชูนโยบายก้าวไกล ‘2 เพิ่ม – 2 ลด’ ลดปริมาณงานบุคลากร ควบคู่เพิ่มช่องทางการรักษานอกโรงพยาบาล กำหนดชั่วโมงทำงาน-ส่งต่อหาเตียงไร้รอยต่อ-สุขภาพดีมีรางวัล-ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เปิดตัวชุดนโยบาย “สุขภาพไทยก้าวหน้า” ที่โรงพยาบาลเขาพนม อ.เขาพนม จ.กระบี่

นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบัน คือการที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักและมีเวลาพักผ่อนน้อย สาเหตุสำคัญเพราะจำนวนผู้ป่วยที่นับวันมีแต่เพิ่มขึ้นจนล้นโรงพยาบาล เช่น โรงพยาบาลเขาพนมแห่งนี้ มีผู้ป่วย 300-400 คนต่อวัน สถานการณ์นี้ที่ต้องเผชิญเกือบทุกวัน ทำให้สุขภาพกายของบุคลากรทางการแพทย์ย่ำแย่กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน โดยจากสถิติพบว่าการทำงานต่อเนื่องกัน 17 ชั่วโมง ซึ่งเป็นจำนวนชั่วโมงทำงานต่อวันโดยเฉลี่ยของแพทย์โรงพยาบาลรัฐนั้น กระทบต่อสมรรถภาพร่างกายเทียบเท่าการมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด 0.05% ซึ่งในบางประเทศเป็นระดับแอลกอฮอล์ที่มีการออกกฎหมายห้ามขับรถ

หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระบบสาธารณสุขของประเทศเราจะพังทลาย ทั้งผู้ป่วยและผู้มีหน้าที่รักษาพยาบาล จะเกิดวิกฤติสุขภาพด้วยกันทุกฝ่าย การออกแบบนโยบายสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดจึงสำคัญมาก เพราะต่อให้เรามีนโยบายด้านเศรษฐกิจที่ดีเลิศแค่ไหน แต่ประเทศไทยที่เข้มแข็งและที่พร้อมเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ไม่สามารถสร้างได้หากคนไทยมีสุขภาพอ่อนแอ

ดังนั้น ทางออกของเรื่องนี้ จำเป็นต้องใช้หลักการ “2 ลด 2 เพิ่ม” ประกอบด้วย

  • ลดที่ 1 คือลดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันแพทย์ส่วนใหญ่กระจุกอยู่ในกรุงเทพฯ ด้วยสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:600 คน ขณะที่แพทย์ในจังหวัดอื่นๆ เช่น จ.บึงกาฬ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ถึง 1:5,000 คน หรือ จ.กระบี่ มีสัดส่วนแพทย์ต่อคนไข้ 1:3,000 คน สะท้อนความเหลื่อมล้ำในการจัดสรรทรัพยากรอย่างชัดเจน ประชาชนแต่ละพื้นที่ไม่สามารถเข้าถึงคุณภาพการให้บริการที่ใกล้เคียงกัน

  • ลดที่ 2 คือลดชั่วโมงการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ไม่เช่นนั้น ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าแพทย์ที่ต้องทำงานหนักอย่างต่อเนื่องหลายชั่วโมง จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่เกิดความผิดพลาด ส่วนการแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มคนเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ลดชั่วโมงทำงาน จะทำให้บุคลากรไหลออกจากระบบอยู่ดี

ส่วน “2 เพิ่ม” คือการทำให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ต้น และเพิ่มช่องทางอื่นๆ ในการรักษา เพื่อลดความแออัดและลดการรอคอยที่โรงพยาบาล ประกอบด้วย

  • เพิ่มที่ 1 เพิ่มความครอบคลุมในการรักษา ไม่ใช่เพียงการรักษาสุขภาพทางกายเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงสุขภาพทางใจ

  • เพิ่มที่ 2 เพิ่มแนวทางป้องกัน-รักษา-ประคับประคอง เช่น การคัดกรองมะเร็งให้ครอบคลุมและทำได้ทันที จากปัจจุบันการตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง 6 ชนิด ต้องมีใบสั่งจากแพทย์ก่อน ทำให้ใช้เวลายาวนานกว่าจะพบโรคและรับการรักษา รวมถึงเพิ่มวิธีการรักษาที่หลากหลายสำหรับโรคบางชนิด เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มแนวทางการประคับประคองดูแลผู้ป่วยติดเตียง

ด้านน.ส.ศิริกัญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับชุดนโยบาย “สุขภาพไทยก้าวหน้า” ของพรรคก้าวไกล ต้องการลดปริมาณงานของบุคลากรทางการแพทย์ ควบคู่กับการลดจำนวนคนไข้ที่ไปรักษาที่โรงพยาบาล เพื่อลดปริมาณงาน ต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานบุคลากรทางการแพทย์ไม่เกิน 60 ชม./สัปดาห์ เพิ่มค่าตอบแทน ค่าเวร ค่าโอทีบุคลากรทางการแพทย์เป็นธรรม สร้างแนวหน้าสาธารณสุข ต่อยอดจากงาน อสม. เป็น อสม. เฉพาะทางโดยจ่ายค่าตอบแทนตามชิ้นงาน

แต่การลดปริมาณงานบุคลากรจะทำไม่ได้หากไม่มีการลดจำนวนคนไข้ ให้สามารถรักษาได้ใกล้บ้าน เน้นการป้องกันและส่งเสริมก่อนการรักษา

สำหรับด้านสุขภาพกายดี จะมีนโยบายตรวจสุขภาพประจำปี ฟรี! ทั้งค่าตรวจและค่าเดินทาง รวมคัดกรองมะเร็ง 6 ชนิดฟรี สำหรับกลุ่มเสี่ยง เพิ่มวัคซีนฟรี ลดการป่วยทั้งเด็กและผู้สูงวัย เช่น วัคซีนไข้เลือดออกและปอดอักเสบ สิทธิ 30 บาทครอบคลุมแว่นตาฟรีถึง 18 ปี ประชาชนที่รักษาสุขภาพดี มีรางวัล โดยการสะสมแต้มแลกของรางวัล

ด้านสุขภาพใจดี ตรวจสุขภาพประจำปีต้องมีตรวจสุขภาพจิตด้วย เปิดคลินิกเยาวชน ปรึกษาได้ ไม่ต้องรายงานผู้ปกครอง-โรงเรียน ดูแลสุขภาพจิตครบวงจร เพิ่มบุคลากร-ขยายบัญชียา-ใช้เทคโนโลยี สร้างแนวหน้าสุขภาพจิต ช่วยดูแล-บำบัด-ฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนใกล้ตัว

ด้านการเพิ่มทางเลือกในการรักษาใกล้บ้าน ต้องยกระดับ รพ. สต. และศูนย์สาธารณสุขชุมชน Primary Care Unit (PCU) และปลดล็อกระบบการแพทย์ออนไลน์ Telemedicine

ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพของโรงพยาบาล ลดความแออัดในโรงพยาบาล มีห้องฉุกเฉิน (ER) กันไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน ส่งต่อ-หาเตียงแบบไร้รอยต่อด้วยศูนย์รวมเตียง-ระบบเชื่อมข้อมูลสุขภาพ เพิ่มยอดบริจาคอวัยวะเชิงรุก ถามทุกครั้งที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน

ด้านการดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยนอกโรงพยาบาล มีกองทุนดูแลผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยติดเตียง งบประมาณเฉลี่ย 9,000 บาท/คน/เดือน ตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน อย่างน้อยอำเภอละหนึ่งแห่ง ตั้งธนาคารอุปกรณ์ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน นอกจากนี้ยังมีนโยบาย “ลาไปบอกลา” เพิ่มสิทธิวันลาดูแลพ่อ-แม่ที่ป่วยระยะสุดท้าย และนโยบาย “ตายดี” – สิทธิจบชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี สำหรับคนป่วยทางกายที่รักษาไม่ได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มี.ค. 66)

Tags: , , ,
Back to Top