DEXON ลุยเทรด mai เสริมแกร่งเทคตรวจสอบเฉพาะทางขั้นสูงครบวงจรหลัง ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง

นางมัลลิกา แก่กล้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี (DEXON) เปิดเผยว่า แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

DEXON เป็นผู้ให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรม และสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีสำหรับตรวจสอบโครงสร้าง และอุปกรณ์การผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม พลังงาน ปิโตรเคมี อุตสาหกรรมก่อสร้าง โรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ซึ่ง DEXON มีทีมผู้เชี่ยวชาญ และทีมวิศวกรที่มีประสบการณ์ รวมถึงให้บริการด้วยมาตรฐานทางเทคโนโลยี และเครื่องมือที่ทันสมัย โดยที่บริษัทสามารถพัฒนาขึ้นเอง ได้รับการยอมรับ และได้รับใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ จากหน่วยงานรับรองระบบในระดับสากล

สำหรับรูปแบบการให้บริการตามโครงสร้าง แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. การบริการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advance Inspection Technology) 2. การบริการตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน (Conventional Inspection Technology) 3. การบริการฝึกอบรมด้านการตรวจสอบ (Training Services) 4. การให้บริการออกแบบทางด้านวิศวกรรม ประกอบ ติดตั้งและซ่อมบำรุง (Engineering design, Assembly, Installation and Maintenance Service)

การระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทมีแผนขยายธุรกิจไปยังเนเธอร์แลนด์ (ทวีปยุโรป) รวมถึงสหรัฐอเมริกา เน้นให้บริการตรวจสอบทางวิศวกรรมระบบท่อด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง (Smart Pigging Technology) ที่มีคู่แข่งในตลาดน้อยราย โดยเฉพาะการตรวจสอบรอยแตกขนาดเล็กในระบบท่อส่งที่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษที่มีเทคโนโลยีสูงที่บริษัทพัฒนาขึ้น (Hawk Pipeline Crack Detection and Measurement System)

รวมทั้งลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า และการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม เช่น การเปลี่ยนไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ, การตรวจสอบระบบท่อส่งเพื่อรองรับการแปลงไปสู่การใช้งานของก๊าซไฮโดรเจน (Hydrogen Energy Conversion) ที่จะเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ในระบบท่อส่งจากเดิมเป็นน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เป็นการขนส่งก๊าซไฮโดรเจน การดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนั้นจะนะไปชำระเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งถือเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัท และสร้างโอกาสในการแข่งขันให้กับบริษัท

DEXON มีเป้าหมายในการเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจเพื่อขยายการให้บริการ และตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าแบบครบวงจรได้อย่างครอบคลุม โดยจัดตั้งบริษัทย่อย ได้แก่

1. บริษัท เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี พีทีอี ลิมิเต็ด (DTS) ให้บริการลูกค้าในประเทศสิงคโปร์ และประเทศข้างเคียง

2. บริษัท เด็กซ์ซอน เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์ จำกัด (DTC) ให้บริการการฝึกอมรบเพื่อส่งเสริม และยกระดับความรู้ความสามารถแก่บุคลากรทั้งภายในและภายนอกบริษัท

3. บริษัท เด็กซ์ซอน เมคคานิคอล โซลูชั่นส์ จำกัด (DMS) ให้บริการงานออกแบบทางวิศวกรรม งานประกอบ งานโครงสร้าง และงานให้บริการบุคลากรทางด้านเครื่องกล และซ่อมบำรุงทั้งในส่วนงานท่อ และโครงสร้าง ในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม และปิโตรเคมี

4. บริษัท ดาคอน ยุโรป บีวี (DEBV) จัดตั้งในเนเธอร์แลนด์ เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมลูกค้าในทวีปยุโรป และอเมริกา

“เมื่อ ก.ล.ต. ได้นับหนึ่งไฟลิ่งแล้ว จะทำให้การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอเดินหน้าไปอีกก้าว ซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจบริษัทให้แข็งแกร่ง เพิ่มโอกาสในการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพและมั่นคงในอนาคต ทั้งนี้ DEXON มีเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีด้านการตรวจสอบเฉพาะทางขั้นสูงแก่อุตสาหกรรมชั้นนำระดับนานาชาติแบบครบวงจร และให้บริการอย่างต่อเนื่องไปทุกภูมิภาคของโลกอย่างยั่งยืน” นางมัลลิกา กล่าว

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของ DEXON เปิดเผยว่า DEXON จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 123,183,200 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท คิดเป็น 25.85% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลัง IPO คาดว่า DEXON จะเข้าจดทะเบียนในตลาด mai ภายในไตรมาสแรกของปีนี้

ในขณะที่ผลประกอบการของ DEXON ในปี 63-65 รายได้จากการขายและบริการ 438.97 ล้านบาท 433.46 ล้านบาท และ 608.51 ล้านบาท ตามลำดับ และมีกำไรสุทธิ 11.04 ล้านบาท 18.15 ล้านบาท 105.15 ล้านบาท ตามลำดับ

รายได้ในปี 65 เพิ่มขึ้น 175.04 ล้านบาท เติบโต 40.38% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 64 และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 87 ล้านบาท เติบโต 479.33% เนื่องจากลูกค้าต่างประเทศเป็นหลัก ตามสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่อนคลาย และบริษัทสามารถเดินทางไปให้บริการในต่างประเทศได้มากขึ้น โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่เผชิญวิกฤต COVID-19 มาตั้งแต่ปี 63

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 มี.ค. 66)

Tags: , , , , ,
Back to Top