นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง (BLS) คาดแนวโน้มรายได้รวมน่าจะปรับตัวลดลงจากปี 65 ที่มีรายได้รวม 3,934 ล้านบาท โดยธุรกิจหลักทรัพย์คาดว่าจะลดลง เนื่องจากมูลค่าการซื้อขายในปี 66 ลดลงเล็กน้อยจากปี 65 ที่มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 76,733 ล้านบาท เนื่องจากตลาดหุ้นยังมีภาพความกังวลเศรษฐกิจโลกถดถอย การปรับขึ้นดอกเบี้ยสหรัฐอย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจกลับไปทำธุรกิจหลังจาก 2-3 ปีที่แล้วหันมาเทรดหุ้น นอกจากนี้ยอมรับการแข่งขันธุรกิจหลักทรัพย์รุนแรงมากขึ้น บางแห่งหั่นค่าคอม 0%
อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีธุรกิจวานิชธนกิจ (IB) ที่มีดีล IPO อยู่ในมือ 3-4 รายอยู่ในอุตสาหกรรมอาหารเป็นบริษัทขนาดใหญ่ รถยนต์และสุขภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังได้รับความสนใจจากนักลงทุน และบริษัทยังมีสินค้าใหม่ อาทิ DR ที่จะออกมาต่อเนื่อง เหล่านี้จะช่วยประคองรายได้ของบริษัทไว้ได้
นายพิเชษฐ กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจหลักทรัพย์ในปี 66 คาดว่าจะค่อย ๆ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม โดยเฉพาะเศรษฐกิจโลกเริ่มคลี่คลายทั้งเรื่องเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจในประเทศจะได้รับประโยชน์จากการที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าคาด หนุนภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวชัดเจน นอกจากนี้การกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ จะส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจคึกคักหากรัฐบาลใหม่มีสเถียรภาพ ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว
แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะการแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์น่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเข้ามาของบริษัทหลักทรัพย์รายใหม่ จะยิ่งทำให้เราต้องพัฒนาในทุก ๆ ด้านเพื่อให้ลูกค้าได้รับบริการที่ดีที่สุด นอกจากการแข่งขันจากโบรกเกอร์ด้วยกันเองแล้ว ยังมีผู้ประกอบการในรูปแบบใหม่ในกลุ่มฟินเทคอีกด้วย
บล.บัวหลวงยังคงเน้นไปที่การให้บริการที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการดูแลเอาใจใส่ลูกค้าคอยให้คำปรึกษาที่ดีจากผู้แนะนำการลงทุน รวมถึงการมีบทวิเคราะห์ที่มีคุณภาพจากนักวิเคราะห์ของบริษัทส่งให้กับลูกค้า และเรายังมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือในการลงทุนด้วยการใช้เทคโนโลยี ที่ทั้งมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัยสูง เพื่อตอบโจทย์นักลงทุนอย่างไม่หยุดนิ่ง และพร้อมที่จะดูแลนักลงทุนในทุกสถานการณ์ท้าทาย
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจหลักทรัพย์มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกประเทศที่มีผลต่อการซื้อขายของนักลงทุน สำหรับปีนี้สถานการณ์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่หลักทรัพย์บัวหลวงมีผลกำไรที่ดีเนื่องจากได้รับความไว้วางใจจากลูกค้า ทั้งลูกค้าเก่าที่ยังคงทำการซื้อขายกับบริษัทอย่างต่อเนื่อง และลูกค้าใหม่ที่มีการเปิดบัญชีกับบริษัทเนื่องจากการที่เรามีเครื่องมือและบริการต่าง ๆ ตอบโจทย์นักลงทุนครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย” นายพิเชษฐ กล่าว
ในปี 65 ที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์อยู่ในสัดส่วนสูงถึงราว 10% ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาด 4.72% ปัจจุบันบริษัทมีกลุ่มลูกค้าบุคคลประมาณ 6.4 แสนราย ขณะที่ทั้งอุตสาหกรรมมีผู้เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ประมาณ 3.4 ล้านราย (ณ สิ้นปี 65) ทั้งนี้ บล.บัวหลวง เก็บค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ย 0.14% สูงกว่าภาพรวมซึ่งอยู่ที่ 0.08%
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายยอดเปิดบัญชีใหม่ในปีนี้เพิ่มขึ้น 30,000-40,000 ราย โดยบริษัทไม่มีแผนเพิ่มสาขา แต่ยังคงสาขาเดิมไว้ที่ 27 สาขา เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป เข้าห้องค้าน้อยลง แต่การมีสาขาไว้เพื่อใช้เป็นจุด Contact Point มากกว่า และการมีสาขาเพื่อให้ลูกค้ามีความมั่นใจในบริการ แม้ว่าลูกค้าจะซื้อขายผ่านออนไลน์มากขึ้น ขณะที่บริษัทจะนำ AI หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมงานบริการมากขึ้น
ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจหลักทรัพย์ มีสัดส่วน 60% ธุรกิจ IB มีสัดส่วน 10% และรายได้สินค้าใหม่ อาทิ DR สัดส่วน 10% และที่เหลือ 20% มาจากรายได้อื่น อาทิ ดอกเบี้ยรับ เงินปันผล
นายบรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง กล่าวว่า กลยุทธ์การดำเนินงานของหน่วยงานกิจการค้าหลักทรัพย์ในปีนี้จะมุ่งเน้นเรื่องคุณค่าของการบริการ ได้แก่ 1. การสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ปัจจุบัน บล.บัวหลวงเป็นบริษัทในเครือธนาคารกรุงเทพที่มีฐานเงินทุนแข็งแร่ง ทำให้ลูกค้าสบายใจได้ว่าบล.บัวหลวงเป็นองค์กรที่มีความมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ และมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในระบบงาน
2.การสร้างองค์ความรู้ด้านการลงทุนที่ถูกต้องโดยปีนี้ยังคงเน้นให้ความรู้กันอย่างต่อเนื่องกับผู้ลงทุนผ่านการจัดกิจกรรมให้ขอ้มูลด้านการลงทุนในเชิงลึกและให้ความรู้ทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น Wealth Connex , ช่อง YouTube Bualuang Secuties และ 3. การพัฒนานวัตกรรมารและบริการด้านการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งเมื่อต้นปีนี้บริษัทเปิดระบบซื้อขายหุ้นต่างประเทศตัวใหม่ในชื่อ “Global trade Master”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มี.ค. 66)
Tags: BLS, IPO, ขึ้นดอกเบี้ย, ธุรกิจหลักทรัพย์, บล.บัวหลวง, พิเชษฐ สิทธิอำนวย, หุ้นไทย, เศรษฐกิจโลก