นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการส่วน ส่วนนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่าจะมีโครงการใหม่เข้ามาได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) หลังจากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศ BEM ชนะการประมูล ซึ่งบริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วซึ่งได้ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นเมื่อ 28 พ.ย.65 แล้ว และดำเนินการตามที่ รฟม.ระบุแล้ว ทั้งนี้ขึ้นกับรฟม.และภาครัฐจะกำหนดลงนามสัญญาเมื่อไร
บริษัทยังมีงานเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ที่มีระยะทาง 23.6 กม. โดยระหว่างนี้อยู่ระหว่างเจรจางานเดินรถกับ รฟม. คาดว่าจะได้ความชัดเจนในครึ่งปีหลังปี 66 หรืออาจต้นปี 67 และจะเริ่มเดินรถในปี 70 โดยขณะนี้งานก่อสร้างเพิ่งจะเริ่มต้น ทั้งนี้ BEM เป็นผู้เดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงเหนือ ช่วงเตาปูน-คลองบางไผ่ ระยะทาง 23 กม.
นอกจากนี้ โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) ซึ่ง BEM ในฐานะผู้รับสัมปทานบริหารจัดการทางด่วน ก็คาดจะได้รับงานดังกล่าว โดยขณะนี้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการอยู่ระหว่างการศึกษาทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดรู้ผลภายในปีนี้ โครงการนี่คาดเริ่มก่อสร้างในอีก 3 ปี โดยใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี
ส่วนโครงการอื่นในอนาคต กรมทางหลวงเตรียมจะเปิดเอกชนบริหารการเดินรถรูปแบบ PPP ได้แก่ โครงการมอเตอร์เวย์สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครฝั่งตะวันตก (M9) , โครงการมอเตอร์เวย์สายนครปฐม-ชะอำ (M8) เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในปี 66 คาดว่ารายได้จะกลับมาใกล้เคียงก่อนเกิดโควิดที่มี 1.6 แสนล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 1.48 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปริมาณจราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะโต 1-2% แบะกลับไปชนจุดสูงสุดเดิม 1.2 ล้านคัน/วันในปี 67 ส่วนจำนวนผู้โดยสารปีนี้คาดมียอดเฉลี่ย 4 แสนเที่ยว/วันจากปีก่อนที่ 3.7 แสนเที่ยว/วัน ทั้งนี้ในวันธรรมดาจำนวนผู้โดยสารไปแตะที่ 4.5-4.7 แสนเที่ยว/วันแล้ว ด้านรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์คาดว่าจะเติบโต 12-13%
“มกราคมตัวเลขปริมาณจราจร และผู้โดยสารก็ปรับตัวขึ้น ปีนี้ รายได้ปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่ผ่านมา จากก่อนโควิดมีรายได้ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยปี 66 น่าจะใกล้เคียง จากปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น”นายธนาวัฒน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มี.ค. 66)
Tags: BEM, ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ, ธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์, รถไฟฟ้าสายสีส้ม