ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติไม่ให้ความเห็นชอบผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในญัตติขอให้สภามีมติส่งเรื่องที่มีเหตุสมควรจะให้มีการออกเสียงประชามติให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ดำเนินการด้วยคะแนนเสียง 157 คน เห็นด้วย 12 คน งดออกเสียง 13 คน และไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน
ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ที่ประชุมวุฒิสภาได้รับทราบรายงานการศึกษาจากคณะกรรมาธิการสามัญพิจารณาญัตติฯ ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.เป็นประธาน ซึ่งมีประเด็นที่เสนอให้ที่ประชุมพิจารณา คือ คัดค้านการเห็นชอบญัตติดังกล่าว เพราะการทำประชามติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ รวมถึงกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เนื่องจากเป็นคำถามที่ไม่ชัดเจน อีกทั้งทำให้ประชาชนไม่เกิดความเข้าใจในเนื้อหาสาระข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ชัดเจน
นายสมชาย กล่าวว่า การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญตามข้อเสนอที่ให้ทำในวันเดียวกันกับวันเลือกตั้งที่จะมาถึง กมธ.เห็นว่ามีความเป็นไปไม่ได้ เพราะกรอบการทำประชามติต้องดำเนินการภายในไม่น้อยกว่า 90 วัน แต่การเลือกตั้งหากยุบสภาต้องเลือกตั้งภายใน 45- 60 วัน หรือครบวาระต้องเลือกตั้งภายใน 45 วัน อีกทั้งจากการรับฟังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจง ทราบว่าต้องใช้งบประมาณและเจ้าหน้าที่จำนวนมาก โดยการเลือกตั้งที่จะมาถึงต้องมีหน่วยเลือกตั้ง 9 หมื่นหน่วย มีเจ้าหน้าที่หน่วยละ 9 คน ขณะที่การทำประชามติต้องมีเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการหน่วยละ 5 คน ขณะที่การทำประชามติต้องใช้งบประมาณมาก โดย กมธ.พิจารณาแล้วเห็นว่าต้องทำประชามติ 3 รอบ รอบแรก คือ ถามว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรมนูญหรือไม่ หากเห็นด้วยต้องกลับมาแก้ไขตามกระบวนของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีองค์กรแก้ไขเนื้อหา จากนั้นต้องกลับไปทำประชามติอีกครั้ง และเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญอีกครั้งต้องทำประชามติอีก
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพฯ เขตบางแค พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้เสนอญัตติ กล่าวถึงกรณีที่ประชุม ส.ว. คว่ำญัตติจัดประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า ตนไม่เห็นด้วยและผิดหวังกับการลงมติดังกล่าว ทั้งการที่อ้างว่าคณะกรรมาธิการชุดนี้ได้พิจารณาอย่างรอบด้าน หลายข้อห่วงใยที่เป็นบทสรุปของรายงานกรรมาธิการชุดนี้นั้น ตนเข้าไปตอบทุกข้อสงสัย แต่กลับไม่พบความเห็นของตนเองและนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทย ในรายงานการศึกษานี้เลย เป็นสิ่งที่เชื่อว่ากรรมาธิการชุดนี้ไม่ได้ศึกษาอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงที่มาของ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และในส่วนของการจัดทำประชามติพร้อมกับเลือกตั้งนั้น เป็นเพียงข้อเสนอและข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นหลักการและเหตุผลไม่ได้เป็นการบังคับว่าจะต้องมีการทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้ง ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี
ขณะที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย พรรคก้าวไกล กล่าวว่าการลงมติครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าวุฒิสภาปัจจุบันได้เป็นอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้ไม่นับการลงมติในวันนี้ก็จะเห็นว่ามีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาทั้งหมด 26 ร่างแต่มีเพียงร่างเดียวที่ผ่านได้ แต่ครั้งนี้น่าผิดหวัง เพราะไม่ได้เป็นการรักษาคำพูดและรับผิดชอบคำพูดของตนเองที่ได้มีการกระทำในปี 2563 ที่เคยมีมติเห็นชอบในวาระรับหลักการให้มีการตั้งส.ส.ร.มาจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“ส.ว. บางคนกังวลว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นระเบิดเวลาและนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ผมยืนยันการไปต่อกับรัฐธรรมนูญ 2560 นี่แหละคือระเบิดเวลา เพราะไม่มีที่มาที่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีกติกาที่มีเจตนาจะเป็นกลางต่อทุกฝ่าย” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับช่องทางที่สามารถจัดประชามติทำรัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นวิธีที่ถูกรับรองโดย พ.ร.บ.ประชามติ 2564 ได้แก่
ช่องทางที่ 1 การเข้าชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ เพื่อยื่นไปยัง ครม. ซึ่งปัจจุบันการรณรงค์แคมเปญ RESET Thailand ได้รายชื่อครบแล้ว และอยู่ในขั้นตอนรอการตรวจสอบรายชื่อของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีข้อติดขัดคือ กกต. ต้องการตรวจสอบเอกสารว่าตรงกับระเบียบ กกต. หรือไม่ จึงขอฝากให้ กกต. ไม่สกัดกั้น ไม่ทำให้กระบวนการล่าช้า
ช่องทางที่ 2 หาก ครม. เห็นชอบให้มีการจัดทำประชามติ ก็สามารถทำได้เลย ซึ่งตนมองไม่เห็นว่าการจัดทำประชามติจะมีปัญหาอะไร ส.ส.รัฐบาลก็โหวตเห็นชอบให้มีการจัดประชามติ จึงอยากฝากไปยังรัฐบาลว่าสามารถทำได้เลย
ช่องทางที่ 3 หาก 2 ช่องทางนี้ยังไม่สำเร็จ ความหวังสุดท้ายคือ หากพรรคก้าวไกลได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชนให้เป็นรัฐบาล ครม.ก้าวไกล พร้อมจัดทำประชามติเพื่อถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดย ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใน 100 วันแรกแน่นอน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)
Tags: ประชามติ, ประชุมวุฒิสภา, ส.ว.