นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยขณะนี้โครงการก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความคืบหน้า 38.53% เร็วกว่าแผนงานที่กำหนดไว้ 1.10% โดยได้ดำเนินการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและงานออกแบบรายละเอียดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขณะที่งานก่อสร้างเขื่อนกันทรายสามารถลงหินแกนแล้วเสร็จ 100% และเริ่มทดสอบการขุดลอกไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มงานขุดลอกและถมทะเลพื้นที่ของโครงการฯ ในวันนี้
โครงการนี้มีค่าการลงทุน 6.4 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนของภาคเอกชน 5.2 หมื่นล้านบาท และภาครัฐ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยจะดำเนินงานเป็น 2 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1 เป็นการร่วมทุนระหว่าง กนอ.กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินัล จำกัด เพื่อขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดด้วยการถมทะเลพื้นที่ 1,000 ไร่ (พื้นที่หลังท่าและหน้าท่าพร้อมใช้งาน 550 ไร่ และพื้นที่กักเก็บตะกอนดิน 450 ไร่)
ช่วงที่ 2 การพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ได้เปิดขายซองประมูลเมื่อวันที่ 8 พ.ย.-8 ธ.ค.65 และจะให้เอกชนยื่นข้อเสนอในวันที่ 6 มิ.ย.66 ขณะเดียวกันได้จ้างทีมศึกษาโครงการช่วงที่ 2 อีกครั้ง เพื่อพิจารณาค่าร่วมดำเนินการระหว่างรัฐและเอกชนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพื่อเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาหากมีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 2) อาจล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมบ้าง แต่ในภาพรวมโครงการระยะที่ 3 ทั้งหมดจะยังคงแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2569 ถึงต้นปี 2570
โดยโครงการทั้งช่วงที่ 1 และ ช่วงที่ 2 ก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในช่วงของการก่อสร้างและดำเนินโครงการฯ ชุมชนมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในชุมชนมากขึ้น ขณะเดียวกัน กนอ.ยังมีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนผ่านมูลนิธิกองทุนหลักประกันความเสียหายฉุกเฉินและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ตามรายงาน EHIA เมื่อ 7 เม.ย.64 เพื่อเยียวยากลุ่มประมงเรือเล็กพื้นบ้านที่มีพื้นที่จับสัตว์น้ำประมาณ 2,200 ไร่ บริเวณพื้นที่ถมทะเลด้วย
โครงการดังกล่าวเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและความจุในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอีก 19 ล้านตันต่อปี ใน 30 ปีข้างหน้า รวมถึงรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และการลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นท่าเรืออุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสามารถในการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวในปริมาณ 16 ล้านตันต่อปี มีผู้ประกอบการจำนวน 12 ราย ได้แก่ ผู้ให้บริการท่าเทียบเรือเฉพาะกิจ จำนวน 9 ราย และผู้ให้บริการท่าเทียบเรือสาธารณะ จำนวน 3 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.พ. 66)
Tags: กนอ., ก๊าซธรรมชาติ, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ท่าเรือ, ปิโตรเคมี, มาบตาพุด, วีริศ อัมระปาล