ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ปรับเพิ่มประมาณการนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 66 จาก 28.3 ล้านคนมาอยู่ที่ 30 ล้านคน จากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนหลังประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบ และนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่ฟื้นตัวดีขึ้น
การเปิดประเทศในทันทีของจีนตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างบิ๊กเซอร์ไพรส์เริ่มต้นปีใหม่หลังจากที่จีนยึดมั่นนโยบาย Zero Covid-19 อย่างเหนียวแน่นตลอด 3 ปี แม้จะเห็นสัญญาณบวกจากการลดความเข้มงวดของนโยบาย Zero Covid-19 มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การอนุญาตให้ผู้เดินทางเพื่อธุรกิจสามารถเดินทางออกนอกประเทศ การเปิดให้นักศึกษาต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ หรือการลดระยะเวลาการกักตัวสำหรับผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ แต่การเปิดประเทศเต็มรูปแบบในทันทีของจีน จากที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจีนจะทยอยเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไปเช่นเดียวกับแนวทางการเปิดประเทศของหลายประเทศทั่วโลกนั้น จะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนกลับมาไทยเร็วขึ้น
สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้นกว่า 64%MOM จาก 5.4 หมื่นคน ในเดือนธ.ค. 65 คาดว่า จะมาอยู่ที่ราว 9 หมื่นคนในเดือนม.ค. 66 และมีแนวโน้มเร่งตัวสูงขึ้นจากนักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ เนื่องจากไทยเป็น 1 ใน 20 ประเทศนำร่อง ที่ทางรัฐบาลจีนอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ได้ตั้งแต่วันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา
อีกทั้งจากรายงานผลสำรวจความคิดเห็นของชาวจีน เกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ของหลายองค์กรยังพบว่า ไทยเป็น 1 ใน 5 ประเทศจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวจีนให้ความสนใจวางแผนเดินทางไปเที่ยวในปี 66 ซึ่งจะยิ่งทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีแนวโน้มเดินทางมาไทยเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ในระยะแรก การเดินทางออกนอกประเทศของนักท่องเที่ยวจีนอาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง จากค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวที่ยังอยู่ในระดับสูง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและจำนวนเที่ยวบินของสายการบินที่เพิ่งเริ่มเปิดให้บริการ อีกทั้งนักท่องเที่ยวบางส่วนยังมีความกังวลด้านสุขอนามัย จึงส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่ออกเดินทางกลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ตามด้วยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความกังวลด้านสุขอนามัยไม่มากนัก
ทั้งนี้ ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป คาดว่าข้อจำกัดการเดินทางจะเริ่มปรับลดลง จากที่สายการบินจะเพิ่มจำนวนเที่ยวบินออกจากจีนมากขึ้น ในตารางบินฤดูร้อนตามความต้องการเดินทางไปต่างประเทศของชาวจีนที่อยู่ในระดับสูงโดยเฉพาะกรุ๊ปทัวร์ ซึ่งจะส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทยเร่งตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่อาจมีแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจของจีน การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจ และค่าใช้จ่ายในการเดินทางท่องเที่ยวที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะทำให้การฟื้นตัวชะลอลง
ในเดือนม.ค. ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวจากชาติอื่นเดินทางเข้าไทยแล้วกว่า 2 ล้านคน หรือฟื้นตัวเกือบ 85% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 62 สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง และฟื้นตัวได้เร็วนับตั้งแต่ไทยประกาศเปิดประเทศแบบไม่กักตัวในวันที่ 1 พ.ย. 64 แม้หลายประเทศจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงในหลายด้าน ทั้งภาวะเงินเฟ้อ เศรษฐกิจชะลอตัว การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน
ทั้งนี้ แม้ในช่วงแรกนักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางมาไทยหดตัวรุนแรง แต่เมื่อสถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลาย และสายการบินสัญชาติรัสเซียกลับมาให้บริการในช่วงพ.ย. 65 ที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียในเดือนธ.ค. 65 ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ราว 1.8 แสนคนหรือ 80% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 62
นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวเป้าหมายใหม่อย่างซาอุดีอาระเบีย จากความสำเร็จของการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ก็จะช่วยส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเดินทางเข้าไทยเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น จากทิศทางเชิงบวกของการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาติอื่นดังกล่าว ส่งผลให้ SCB EIC ปรับเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมในปี 66 มาอยู่ที่ 30 ล้านคนและคาดว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นตัวกลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ในช่วงปลายปี 67
การกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน จะส่งเสริมให้ภาคธุรกิจต่างๆ ใน Tourism ecosystem ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 65 โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวจีนค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ รถเช่า สถานที่และกิจกรรมท่องเที่ยว ร้านค้า ร้านอาหาร สปาและเวลเนส และบริการทางการแพทย์ โดยภาคธุรกิจที่ SCB EIC คาดว่าจะได้ประโยชน์ค่อนข้างสูงจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวจีน ได้แก่
– ที่พักโรงแรม : โดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน อย่างกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา และเชียงใหม่ ซึ่งในระยะแรก โรงแรม 4-5 ดาว ที่รองรับกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และกลุ่มธุรกิจจะมียอดจองที่เร่งขึ้นก่อนตามด้วยโรงแรมที่พักประเภทอื่นๆ จากกลุ่มนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ราคาประหยัด ที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 2
– บริการขนส่ง : ธุรกิจสายการบินจะได้รับประโยชน์จากการให้บริการเส้นทางบินระหว่างจีน-ไทย รวมถึงเส้นทางบินในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสายการบินราคาประหยัด และสายการบินที่ให้บริการเช่าเหมาลำ ที่พึ่งพาตลาดนี้ค่อนข้างสูง ส่วนการเดินทางในประเทศ ผู้ให้บริการรถตู้หรือรถทัวร์นำเที่ยว ซึ่งเน้นให้บริการนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ รวมถึงผู้ให้บริการรถเช่าที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม F.I.T คาดว่าจะมีการใช้บริการที่เพิ่มสูงขึ้น
– บริการนำเที่ยว : ธุรกิจบริษัททัวร์ที่ให้บริการจัดทริปในไทย ทั้งแบบกรุ๊ปทัวร์หรือกรุ๊ปส่วนตัว รวมถึงไกด์ท้องถิ่น กำลังได้รับติดต่อจากเอเย่นต์ในจีนเป็นจำนวนมาก หลังจากจีนอนุญาตให้การท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เดินทางมาไทยได้ โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมียมจากการมาของนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง
– ร้านค้าและร้านอาหาร : ร้านค้าที่ขายสินค้ายอดนิยมของชาวจีนจะได้รับประโยชน์สูง เช่น สินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้าเสริมความงามแบรนด์ไทย สินค้าท้องถิ่นและของที่ระลึกจากตลาดนัด/ ตลาดกลางคืน สินค้าแฟชั่นและแบรนด์เนมในห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง รวมถึงสินค้าประเภทอาหารและผลไม้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ
ในส่วนร้านอาหาร ร้านอาหารที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวจีน ทั้งในกรุงเทพฯ อย่างย่านเยาวราช ถนนข้าวสาร และในต่างจังหวัดทั้งเชียงใหม่ พัทยา และภูเก็ต จะมีลูกค้าชาวจีนเพิ่มมากขึ้น
– บริการด้านสุขภาพและเวลเนส : ธุรกิจโรงพยาบาลจะได้รับประโยชน์จากการเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นทั้งการรักษาโรค การตรวจและฟื้นฟูสุขภาพ และการฉีดวัคซีนโควิด-19 แบบ mRNA รวมถึงธุรกิจเวลเนสส่งเสริมสุขภาพทั้งคลินิกเสริมความงาม ธุรกิจสปาและนวดแผนไทย ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน
– กิจกรรมท่องเที่ยว : ธุรกิจนันทนาการและการบันเทิง เช่น สวนสนุก การแสดงโชว์ สถานที่ท่องเที่ยวและกิจกรรมนันทนาการ ที่เน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะมีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบมากขึ้นใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
SCB EIC มองว่า ปีนี้การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จะสร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นอีกราว 7 หมื่นล้านบาทจากที่เคยคาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อคนต่อทริปในปีนี้ยังถือว่าต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 อยู่พอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่เติบโตชะลอลงได้สร้างแรงกดดันต่อกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่จะปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก
ในภาพรวม การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ จะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจจากการจ้างงานที่ขยายตัว รายได้แรงงานปรับตัวดีขึ้น และจะส่งผลต่อเนื่องถึงการบริโภคภาคเอกชน อีกทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวและนักลงทุนชาวจีน จะเร่งให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น ทั้งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวและการลงทุนภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการเข้าซื้อ/ โอนกรรมสิทธิ์คอนโดมิเนียมของชาวจีน
จากปัจจัยสนับสนุนข้างต้น SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปี 66 จะขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15pp เทียบกรณีฐานจากการปรับประมาณการนักท่องเที่ยวครั้งนี้ (คำนวณเฉพาะผลกระทบส่วนเพิ่มของการปรับประมาณการนักท่องเที่ยว)
ผู้ประกอบการควรเตรียมพร้อมรับมือ ควบคู่ไปกับการสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าและบริการ เพื่อคว้าโอกาสจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เร่งตัวสูงขึ้น โดยอาจพิจารณา 4 แนวทางดังต่อไปนี้
1. การเตรียมพร้อมขยายขีดความสามารถในการให้บริการเพื่อบรรเทาปัญหาคอขวด : เนื่องจากปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบให้หลายธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวต้องปิดตัว/ ปรับลดขีดความสามารถการให้บริการลง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมที่พัก ผู้ให้บริการขนส่ง และร้านค้าร้านอาหาร ซึ่งต่างปรับลดพนักงานบริการทั้งแบบประจำและชั่วคราว การปรับลดปริมาณห้องพักและบริการด้านอาหาร และการลด/ยกเลิกเช่ายานพาหนะเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ ต้องเร่งปรับตัวขยายขีดความสามารถการบริการ ให้รองรับปริมาณนักท่องเที่ยวที่จะเร่งตัวขึ้นในปี 66
2. การยกระดับสินค้าและบริการให้ได้มาตรฐานระดับสากล ถูกใจนักท่องเที่ยวต่างชาติ : โดยการนำเสนอสินค้า/บริการ ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับคุณภาพที่ได้มาตรฐาน รูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ที่สามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวได้ ราคาที่คุ้มค่าและมีป้ายราคาที่ชัดเจนจริงใจต่อนักท่องเที่ยว รวมถึงรายละเอียดในภาษาต่างๆ ที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และสุดท้ายควรมีช่องทางการจ่ายเงินที่หลากหลายรูปแบบรองรับนักท่องเที่ยวในแต่ละประเทศ
3. การออกแบบแพ็กเกจบริการท่องเที่ยวอย่างครบวงจรในราคาที่เหมาะสม : เพื่อรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่เน้นใช้จ่ายเพื่อสร้างประสบการณ์มากขึ้น โดยแพ็กเกจอาจครอบคลุมทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร การเดินทาง และกิจกรรมต่างๆ เช่น แอดเวนเจอร์ สุขภาพและเวลเนส การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น การส่งเสริมสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ เป็นต้น นอกจากนั้น แพ็กเกจที่นำเสนอควรมีความยืดหยุ่น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีความสนใจที่หลายหลายมากขึ้น
4. การโปรโมตผ่านสื่อออนไลน์ในหลายช่องทาง พร้อมทั้งสร้างช่องทางการขายออนไลน์แบบ Omni channel : โดยนักท่องเที่ยวยุคใหม่นิยมติดตามหาข้อมูล และท่องเที่ยวตามอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งใน Youtube, Tiktok, Instagram และ Facebook จึงทำให้การโปรโมตผ่านสื่อออนไลน์ผ่านอินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ช่วยส่งเสริมให้สินค้าและบริการเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติในวงกว้างได้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งผู้ประกอบการ ควรเตรียมช่องทางการขายออนไลน์ พร้อมโปรโมชันราคาที่น่าดึงดูดในภาษาต่างๆ ที่ชัดเจน เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเข้าถึงได้ง่าย และหากเป็นช่องทางแบบ Omni channel ก็จะยิ่งช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวไทยที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากทั้งการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนตามการเปิดประเทศ และการฟื้นตัวดีขึ้นของนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ นอกจากจะช่วยให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับอานิสงส์โดยตรงแล้ว ยังส่งผลบวกต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในวงกว้าง โดยการเตรียมความพร้อมรับมือการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวไทย ในการรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ จะช่วยส่งเสริมให้ไทยยืนหนึ่งในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.พ. 66)
Tags: SCB EIC, ท่องเที่ยว, ธนาคารไทยพาณิชย์, นักท่องเที่ยว, ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ, เปิดประเทศ