นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า สำหรับปี 66 คาดว่ารายได้รวมจะเติบโตประมาณ 50% จากโครงการที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปีนี้ โดยหลักจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้า IPP โครงการที่ 2 ภายใต้ IPD ได้แก่ โครงการ GPD หน่วยที่ 1 และ 2 (รวม 1,325 เมกะวัตต์) รวมถึงโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา (1,200 เมกะวัตต์)
หลังจากนี้ GULF จะเน้นลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-Zero Greenhouse Gas Emissions) โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจากปัจจุบัน 9% เป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมาจากการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อน โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ ยุโรป อเมริกา
สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนปากแบง (Pak Beng) และเขื่อนปากลาย (Pak Lay) นั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. ภายในไตรมาส 1/66
นางสาวยุพาพิน กล่าวเพิ่มว่า ธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยที่ร่วมลงทุนกับ Binance นั้น ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ และนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ กับทาง กลต. เรียบร้อยแล้ว โดยคาดว่าจะได้รับใบอนุญาตภายในไตรมาส 1/66 และสำหรับธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ที่ GULF ร่วมลงทุนกับ Singtel และ AIS นั้น คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในกลางปีนี้ และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 68
นอกจากนี้ GULF อยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจ Virtual Banking เพื่อเป็นการต่อยอดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย ในเดือน ธ.ค.65 ที่ผ่านมา GULF ได้เข้าซื้อหุ้น 41.13% ใน THCOM จาก INTUCH โดยเล็งเห็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจดาวเทียม (Satellite) ไปในธุรกิจ New Space Economy เช่น การนำข้อมูลจากภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ หรือการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนและคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าชุมชน รวมถึงดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite) เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเดือน ม.ค.66 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ได้ทำการปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ GULF มาอยู่ที่ระดับ “A+” จากระดับ “A” และปรับเพิ่มอันดับเครดิตหุ้นกู้ของ GULF มาอยู่ที่ระดับ “A” จากระดับ “A-” โดยในไตรมาส 1/66 GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มอีกประมาณ 15,000-20,000 ล้านบาท เพื่อชำระคืนเงินกู้เดิมและเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ รวมถึงเป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ
สำหรับผลงานไตรมาส 4/65 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) เท่ากับ 3,593 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 865 ล้านบาท หรือ 32% จากไตรมาส 4/64 โดยสาเหตุหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,325 เมกะวัตต์ ที่เปิดดำเนินการในเดือน มี.ค.และต.ค.65 ส่งผลให้หน่วยผลิตไฟฟ้าทั้ง 4 หน่วยได้เปิดดำเนินการครบตามกำหนดเป็นที่เรียบร้อย และยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH จำนวน 1,085 ล้านบาท ในไตรมาส 4/65
นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค.65 GULF ได้มีการจำหน่ายหุ้น 50.01% ใน BKR2 Holding ซึ่งเป็นบริษัทที่ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ให้แก่ Keppel Group ส่งผลให้มีกำไรจากการขาย จำนวน 381 ล้านบาท โดยกำไรสุทธิ (Net Profit) ในไตรมาส 4/2565 เท่ากับ 5,406 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 78% จาก 3,043 ล้านบาทในไตรมาส 4/2564
ในปี 65 GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 101,397 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% จาก 52,870 ล้านบาทในปี 64 และมี Core Profit เท่ากับ 12,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37% จาก 8,812 ล้านบาทในปีก่อน ปัจจัยหลักมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 3 และ 4 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ DIPWP ที่ประเทศโอมาน ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น 155 เมกะวัตต์ รวมเป็น 195 เมกะวัตต์
อีกทั้งยังรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนี ที่เพิ่มขึ้นจากราคาขายไฟฟ้าเฉลี่ยที่สูงขึ้นจาก 184 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมง เป็น 352 ยูโร/เมกะวัตต์ชั่วโมงในไตรมาส 3/65 และจากความเร็วลมเฉลี่ยที่ดีขึ้นจาก 8.5 เมตร/วินาทีในปี 64 เป็น 9.1 เมตร/วินาทีในปี 65
นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการ ภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation ที่เข้าลงทุนในเดือน ก.ค.65 จำนวน 324 ล้านบาท รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก INTUCH และกำไรจากการซื้อ THCOM รวมทั้งสิ้น 4,656 ล้านบาท
ด้านอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ในปีนี้ เท่ากับ 20.6% ลดลงจาก 27.6% ในปี 64 ปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 266.02 บาท/ล้านบีทียู ในปี 64 เป็น 494.78 บาท/ล้านบีทียูในปี 65 หรือเพิ่มขึ้น 86% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.5518 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 64 เป็นเฉลี่ยที่ 0.3986 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 65
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก GULF มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึง 86% ซึ่งต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติจะถูกส่งผ่าน (pass through) ในรูปของรายได้ค่าไฟฟ้าไปยัง กฟผ. ในขณะที่มีสัดส่วนการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมเพียงแค่ 14% จึงได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากราคาค่าก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้น
กำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในปี 65 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 11,418 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการที่ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจาก 33.59 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 64 เป็น 34.73 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปี 65 ซึ่งผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด
ณ วันที่ 31 ธ.ค.65 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.56 เท่า ลดลงจาก 1.77 เท่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.64 เนื่องจากผลประกอบการที่ดีขึ้นในปีนี้ ซึ่งได้สะท้อนอยู่ในส่วนของผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ในเดือน ธ.ค.65 GULF ยังได้รับเงินจากการขายเงินลงทุนใน BKR2 Holding จำนวน 305 ล้านยูโร
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 66)
Tags: GULF, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์, ยุพาพิน วังวิวัฒน์, หุ้นไทย