กระแสรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยกำลังมาแรง ค่ายรถยนต์แบรนด์ดังหลายเจ้ารุมเข้ามาบุกตลาด EV จนกลายเป็นปรากฏการณ์คนไทยแห่ซื้อ EV สูงกว่ายอดจดทะเบียนรถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) 10 ปีที่ผ่านมารวมกัน!! เห็นได้จากยอดรถยนต์ไฟฟ้าในปี 65 ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้มีการเปิดเผยตัวเลขยานยนต์ประเภท BEV จดทะเบียนใหม่สะสมปี 65 มีจำนวน 20,815 คัน เพิ่มขึ้น 274.64% จากปีก่อนหน้า ขณะเดียวกันในปี 66 ก็คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าน่าจะเติบโตต่อเนื่อง หรือมียอดขายแตะ 35,000 คัน
ด้วยตลาด EV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของสถานีชาร์จ EV ซึ่งปัจจุบันก็มีหลายเจ้ากระโดดเข้ามาจับตลาดตรงนี้ ทั้งที่เป็นผู้เล่นหน้าเดิม หรือผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมัน หน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ตลอดจนผู้เล่นหน้าใหม่ จะมีใครบ้าง อินโฟเควสท์ จะพาไปอัพเดทจุดชาร์จ EV ในไทยปี 66 แบรนด์ไหนอยู่ แบรนด์ไหนมาใหม่ แล้วอัตราค่าบริการล่าสุดเป็นยังไง…
1. EV Station PluZ ของบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR)
– จำนวนสถานี : ปี 65 ครอบคลุมเส้นทางหลัก, ปี 66 รวมจำนวน 800 สถานี และจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 สถานีในปี 73
– อัตราค่าบริการ : ค่าชาร์จ ช่วง Peak ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย , ช่วง Off-Peak 4.5 บาทต่อหน่วย
ค่าจองเวลาชาร์จล่วงหน้า 20 บาทต่อช่วงเวลา
– แอปพลิเคชัน : EV Stations PluZ
2. PEA Volta Charging Station ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
– จำนวนสถานี : 118 สถานี และภายในปี 66 จะเพิ่มเป็น 263 สถานี รวมกว่า 1,000 หัวจ่าย
– อัตราค่าบริการ : ช่วง Peak ราคา 6.90 บาทต่อหน่วย และช่วง Off Peak ราคา 4.50 บาทต่อหน่วย
– แอปพลิเคชัน : PEA VOLTA
3. MEA EV ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)
– จำนวนสถานี : 34 สถานี 138 หัวจ่าย และจะเพิ่มเป็น 500 หัวจ่าย ในปี 69
– อัตราค่าบริการ : 7.5 บาทต่อหน่วย (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
– แอปพลิเคชัน : MEA EV
4. EleX by EGAT ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.)
– จำนวนสถานี : 50 แห่ง
– อัตราค่าบริการ : ในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน PT ตู้ชาร์จแบบ DC ขนาด 120 kW : 7.5 บาทต่อหน่วย, ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW : 7.5 บาทต่อหน่วย และในพื้นที่ กฟผ. ตู้ชาร์จ DC ขนาด 50 kW: 6.5 บาทต่อหน่วย, ตู้ชาร์จ AC ขนาด 22 kW: 5.5 บาทต่อหน่วย
– แอปพลิเคคั่น : EleXA
5. EA Anywhere ของบมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA)
– จำนวนสถานี : สิ้นปี 65 มีสถานีชาร์จราว 500 แห่ง
– อัตราค่าบริการ : ประเภท AC Charger ได้แก่ 1 ชั่วโมง / 50 บาท, 2 ชั่วโมง / 80 บาท, 3 ชั่วโมง / 110 บาท, 4 ชั่วโมง / 150 บาท
ประเภท DC Charger อัตราค่าบริการเริ่มต้น 6.50 บาท และ 7.50 บาท/ kWh
– แอปพลิเคชั่น : EA Anywhere
6. SHARGE ของบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นท์ จำกัด
– จำนวนสถานี : ปี 65 ราว 600 แห่ง และมีแผนขยายสถานีชาร์จสาธารณะเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 แห่งในปี 68 และ 700,000 แห่งในปี 73
– อัตราค่าบริการ : เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบ Fast Charge กำลังสูงสุดถึง 120 กิโลวัตต์ ที่ราคา 7.5 บาทต่อหน่วย, เครื่องชาร์จ AC 22 kW Type 2 ค่าบริการชั่วโมงละ 50 บาท
– แอปพลิเคชัน : SHARGE
7. On-ion ของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ภายใต้กลุ่ม ปตท.)
– จำนวนสถานี : 45 สถานี
– อัตราค่าบริการ : ชาร์จเหมา ชั่วโมงละ 60 บาท
– แอปพลิเคชั่น : On-ion
8. MG Super Charge ของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด
– จำนวนสถานี : 129 สถานี
– อัตราค่าบริการ : ชาร์จราคาเดียว 7.5 บาทต่อหน่วย
-แอปพลิเคชั่น : MG iSmart
9. GINKA Charge Point ของบมจ.ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส (FSMART)
– จำนวนสถานี : 5,000 สถานี
– อัตราค่าบริการ : 6.5 บาทต่อหน่วย
– แอปพลิเคชั่น : GINKA
10. Supercharger ของ Tesla
– จำนวนสถานี : 13 แห่งในปี 66
– อัตราค่าบริการ : ฟรีเฉพาะรถ Tesla
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.พ. 66)
Tags: รถยนต์ไฟฟ้า, รถอีวี, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย