“จิราพร” แฉบริษัทหลาน “บิ๊กตู่” ส่อฮั้วประมูล ได้งานรับเหมาภาครัฐยาว 8 ปี

น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามมาตรา 152 ถึงกรณีที่นายปฐมพล จันทร์โอชา ซึ่งเป็นหลานชายพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เปิดบริษัทรับงานด้านรับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่ปี 55 โดยใช้บ้านพักในค่ายทหาร ที่จ.พิษณุโลก เป็นสถานประกอบการมา 5 ปี จนในปี 59 มีกระแสวิพากวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมในการเปิดบริษัทในค่ายทหาร และได้รับงานประมูลของรัฐในวงเงินที่สูง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าในปี 55-56 ผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง แต่ในปี 57 กลับเริ่มได้โครงการรัฐที่มีมูลค่าสูง และเริ่มชนะโครงการประมูล 3 โครงการ มูลค่ารวม 28 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการของกองทัพทั้งหมด และได้งานภาครัฐต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา และงานที่ชนะประมูลส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่พิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง

โดยในปี 57 บริษัทหลานชายของพล.อ.ประยุทธ์ ประมูลงานรัฐได้หลายสิบล้านบาท แต่ขณะนั้น มีเครื่องมือและอุปกรณ์เพียง 13 รายการ รวม 3.85 แสนบาท ไม่มีรายการเครื่องจักรกลหนักแม้แต่รายการเดียว จึงไม่น่าจะสามารถรับงานขนาดใหญ่ได้ แต่ถ้าจะอ้างว่า มีการเช่าเครื่องมือมาทำถ้าเป็นเช่าชั่วครั้งชั่วคราวคงจะรับฟังได้ แต่บริษัทหลานชายนายกฯ เข้าประมูลงานระดับหลักแสนถึงหลักร้อยล้านมา 8 ปีแล้ว

“พฤติกรรมของบริษัท เหมือนเป็นบริษัทนายหน้าที่ประมูลชนะ แล้วไปขายงานต่อมากกว่าที่จะดำเนินการเอง สถานการณ์แบบนี้อาจไม่มีเครื่องจักรหนัก แต่อาจจะมี “เครื่องจัดหนัก” คือ อำนาจลุง อำนาจพ่อ ที่คอย “จัดหนัก” ให้หลานหรือไม่ ถึงสามารถเข้าประมูลงานในกองทัพ ทั้งๆ ที่มีเครื่องมือไม่เพียงพอ” น.ส.จิราพร กล่าว

พร้อมกันนี้ น.ส.จิราพร ได้นำภาพสถานประกอบการที่เป็นคู่เทียบในการยื่นประมูลงาน เมื่อไปตรวจสอบกลับพบว่า ที่ตั้งของทุกบริษัทเป็นลักษณะบ้านพักเท่านั้น และตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทเหล่านี้ไม่น่าใช่บริษัทคู่เทียบ แต่น่าจะเป็นบริษัทคู่ทิพย์ เพราะสภาพบริษัทไม่น่าจะได้ใช้ดำเนินธุรกิจแน่นอน และไม่มีศักยภาพที่จะรับงานหลาย 10 ล้านบาท ดูเป็นลักษณะบริษัทนอมินีที่ใช้เป็นคู่เทียบยื่นเสนอราคา

น.ส.จิราพร กล่าวว่า การที่หลานชายพล.อ.ประยุทธ์ ประมูลงานมาได้ ไม่น่าใช่เพราะ TOR แต่น่าจะเป็นเพราะนามสกุลจันทร์โอชา และบริษัทประมูลที่แข่งกับบริษัทหลานชายพล.อ.ประยุทธ์ ก็เสนอราคาไล่เลี่ยกัน และเป็นบริษัทเดิมๆ ที่เข้าประมูลทุกครั้ง ถือว่าเป็นการฮั้วประมูลเพื่อกีดกับบริษัทอื่นไม่ให้ได้งานหรือไม่ ถ้าเป็นแบบนี้ถือว่าเป็นการทุจริตร้ายแรง ถ้าหน่วยงานเห็นว่าเป็นการฮั้วประมูล หน่วยงานนั้นๆ สามารถยกเลิกการประมูลได้ ถ้าไม่ยกเลิกประมูล หน่วยงานนั้นอาจจะเอื้อประโยชน์ หรือสมยอมให้การเกิดฮั้วประมูล

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top