นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ ปี 2566” ในงาน Thailand Future Economic Forum 2023 จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด รวมทั้งการบริโภคภายในประเทศ ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการของรัฐ เช่น ช้อปดีมีคืน โดยการใช้จ่ายขยายตัวในระดับ 3-4% เป็นการขยายตัวในระดับที่เหมาะสม
สำหรับความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีเพียงเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย แม้ว่าในปีนี้เศรษฐกิจไทยจะได้รับอานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด แต่ในช่วงไตรมาส 1/66 ภาคการส่งออก ในเชิงปริมาณหดตัว แต่มูลค่ายังแข่งขันได้เพราะค่าเงินบาทอ่อนค่า
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ ก็ต้องดูภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วงว่ามีเหตุการณ์ต้องเตรียมตัวอย่างไร ที่สำคัญส่วนที่จะเป็นส่วนช่วยเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นคือการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งโครงการลงทุนใน EEC ที่จะต้องเร่งเข้ามาในปีหลังจากช่วงโควิด-19 ระบาด ที่การลงทุนมีการชะลอตัวลงไปมาก
“ยืนยันว่าเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแต่เราไม่ชะลอด้วย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โตเป็นบวกจากปีที่ผ่านมาได้เพียงไม่กี่ประเทศ แต่สิ่งที่ต้องทำเพื่อสนับสนุนการส่งออก คือ การมองหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดเพื่อนบ้านที่มีโอกาสเติบโตค่อนข้างสูง ในกลุ่มสินค้าเอสเอ็มอี”
นอกจากนี้ สิ่งที่มีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไทยในอนาคต 2 เรื่อง คือ เรื่องดิจิทัล และ เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการมุ่งเน้นให้ประเทศของไปสู่ความทันสมัย การใช้เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต แอปพลิเคชั่น แพลตฟอร์ม 5G ต่าง ๆ ล้วนเป็น โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ แต่ต้องไม่ลืมผลลบ เมื่อเปลี่ยนไปเร็วมากก็เปิดช่องให้มิจฉาชีพ ดังนั้นการเกิดระบบรักษาความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ รัฐบาลก็จะมีการออกกฎหมายก็ต้องยอมกระทบสิทธิส่วนตัวบ้าง
นายอาคม กล่าวว่า รัฐบาลมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายการจัดทำงบประมาณต้องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะถ้าลดลงหมายความว่ารัฐบาลไม่มีเงิน ซึ่งในปี 2566-2567 งบประมาณยังมีการเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งจะมาจากการหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้ดุลการคลังติดลบน้อยลง ซึ่งในปีงบประมาณ 2566 ขาดดุล 6.9 แสนล้านบาท ส่วนปี 2567 มีการขาดดุลลดลง 1.02 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงมาก็จะช่วยลดการก่อหนี้สาธารณะลง
ทั้งนี้ หากมีการทำงบประมาณขาดดุลมาก ๆ เป็นเวลานาน ก็ต้องมีการกู้เงินเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 60.67% หากตามวินัยการคลังเดิมถือว่าเกินไปแล้ว แต่มีการปรับเพิ่มขึ้นอีก 10% เป็น 70% ทำให้มีช่องว่างการทำนโยบายเพื่อรองรับวิกฤต ดังนั้น ทรัพยากรของเราไม่มีปัญหา การก่อหนี้เพิ่มอีกก็ไม่กระทบวินัยการคลัง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลมีความตั้งใจจะกู้เพิ่มอีกจนเต็มเพดาน ขณะที่หนี้ส่วนใหญ่กว่า 80% ก็เป็นการกู้เพื่อมาลงทุน ซึ่งจะมีผลตอบแทนในระยะยาว
นอกจากนี้ ในการดำเนินนโยบายนั้น รมว.คลัง ยืนยันว่า นโยบายการเงินและการคลังต้องสอดประสานและทำงานร่วมกัน โดยการดูแลในเรื่องเป้าหมายเงินเฟ้อ การใช้นโยบายการเงินการคลัง เพื่อดูแลเงินเฟ้อนั้นเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และการทำนโยบายการเงินนั้น ต้องดูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยไม่สร้างต้นทุนให้ธุรกิจมากเกินไป และไม่สร้างต้นทุนให้ครัวเรือน ซึ่งเป็นหนี้สินอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.พ. 66)
Tags: อาคม เติมพิทยาไพสิฐ, เศรษฐกิจไทย