ปิดกองทุน BSF หลังโควิดคลี่คลาย-ตลาดตราสารหนี้เข้าสู่ภาวะปกติ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวิธีและขั้นตอนยุติการดำเนินการของกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (Corporate Bond Stabilization Fund-กองทุน BSF) และให้กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

สำหรับขั้นตอนและวิธียุติการดำเนินการของกองทุน BSF ประกอบด้วย 1) ให้ ธปท.ขายคืนหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ทั้งหมด (ณ วันที่ 31 ต.ค.65 BSF มีสินทรัพย์สุทธิ 1,002.63 ล้านบาท) 2) ให้ยุติการดำเนินการของกองทุน BSF ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ ครม. เห็นชอบ 3)ให้มีการวินิจฉัยผลกำไรหรือความเสียหายของกองทุน BSF ตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณที่คณะกรรรมการพิจารณาผลการกำหนดและให้รายงานต่อ ธปท.และกระทรวงการคลัง โดยหากมีกำไรเกิดขึ้นให้ ธปท.นำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน หากเกิดความเสียหายให้กระทรวงการคลังชดเชยแก่ ธปท.ในวงเงินไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท (เป็นไปตามมาตรา 20 และ 21 พ.ร.ก.กำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563) และ 4)ให้กองทุน BSF ชำระบัญชีให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันยุติการดำเนินการของกองทุน หากมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาชำระบัญชีเกินกว่า 90 วัน ให้ขยายได้ครั้งละไม่เกิน 30 วัน จำนวนไม่เกิน 2 ครั้ง

กองทุน BSF จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 เพื่อรักษาเสถียรภาพและสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ที่มีพื้นฐานดีแต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการลงทุนในตราสารหนี้เอกชนที่ออกใหม่ ซึ่งแนวทางนี้เป็นมาตรการเชิงป้องกันและสร้างความเชื่อมั่นในตลาดตราสารหนี้เอกชนในช่วงมีการแพร่ระบาด ทำให้ตลาดกลับมาทำงานปกติได้ในระยะอันสั้น

ตลอดระยะเวลาดำเนินการที่ผ่านมา BSF ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือบริษัทผู้ออกตราสารหนี้รายใด เนื่องจากไม่มีบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ขอความช่วยหลือจากกองทุน ทำให้ต่อมาคณะกรรมการกองทุน BSF เห็นชอบให้ยุติการเปิดรับขอความช่วยเหลือมายังกองทุน BSF หลังวันที่ 31 ธ.ค.65 เป็นต้นไป และให้ยุติการดำเนินงานของกองทุน BSF โดยมีเหตุผลดังนี้

1)ภาวะตลาดตราสารหนี้เอกชนทำงานได้เป็นปกติแล้ว ผู้ออกตราสารหนี้ส่วนใหญ่สามารถระดมทุนได้ตามจำนวนที่เสนอขาย มีหุ้นกู้ออกใหม่มากกว่าหุ้นกู้ที่ครบกำหนดอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าโอกาสที่ตราสารหนี้เอกชนจะประสบปัญหาสภาพคล่องมีลดลง

2)คุณภาพหุ้นกู้ในตลาดปรับตัวดีขึ้นในปี 65 สะท้อนจากบริษัทที่ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลดลงเมื่อเทียบกับปี 63-64 นอกจากนี้ ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ในตลาดตราสารหนี้ปรับลดลงตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย อีกทั้งหุ้นกู้เสี่ยงที่เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือจากกองทุน BSF มีลดลงเหลือ 16,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้มีหุ้นกู้เสี่ยงในกลุ่ม BBB- ที่มีโอกาสขอรับความช่วยเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมในระยะต่อไป โดยความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยขณะนี้โดยหลักเป็นปัจจัยภายนอก เช่น การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของธนาคารกลางหลักของโลก ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกถดถอย ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งโดยรวมแล้วไม่รุนแรงเท่าช่วงต้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ในปี 63

3)การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงต่อเนื่อง โดยภาครัฐได้ประกาศลดระดับความรุนแรงจากโรคติดต่ออันตราย เป็น โรคติดต่อเฝ้าระวังตั้งแต่ 1 ต.ค.65 พร้อมกับผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการต่างๆ ประชาชนได้รับวัคซีนทั่วถึง การเสียชีวิตไม่เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญและไม่ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกจนเกิดความเสี่ยงเชิงระบบในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.พ. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top