Media Talk: เกาะติด AI และ ChatGPT ในไทย เราจะเป็นผู้ใช้หรือถูกใช้

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแชตบอตเอไออย่าง ChatGPT ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ จะเข้ามาแย่งงานเราหรือไม่ หรือจะเข้ามาช่วยปฏิวัติรูปแบบการเรียนรู้และการทำงานให้เราได้อย่างไร และมีข้อควรระวังอะไรบ้างหรือไม่กับการใช้ AI และแชตบอตเวอร์ชั่นใหม่ ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดงานสัมนาเรื่อง AI-ChatGPT โอกาสและความท้าทายในอุตสาหกรรมสื่อและการศึกษา โดยมี 4 ผู้เชี่ยวชาญร่วมพูดคุยถึงบทบาทและแนวโน้มของ AI และ ChatGPT ในไทย ซึ่งน่าจะนำไปสู่คำตอบของคำถามดังกล่าว

ทิศทางอุตสาหกรรมสื่อกับการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI

คุณโชค วิศวโยธิน ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Media ได้กล่าวถึง ChatGPT ในงานสัมนาโดยเปรียบ ChatGPT ว่า เปรียบเสมือนกับผู้ช่วยในการทำงาน เนื่องจากมีความสามารถที่ได้มาจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในขณะที่ ChatGPT ในปัจจุบัน สามารถเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอีกหลายอย่างที่จำเป็นต้องให้มนุษย์เข้ามาควบคุมคุณภาพของงาน รวมไปถึงขั้นตอนการทำให้งานออกมาเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

การใช้ ChatGPT ให้ทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วย” ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น มีข้อควรตระหนักในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรู้เท่าทันประสิทธิภาพที่ ChatGPT สามารถทำได้ คุณโชคได้ยกตัวอย่างถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ChatGPT ที่เปิดให้ใช้บริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในปัจจุบันว่า ChatGPT ประเภทนี้มีฐานข้อมูลที่อัปเดตล่าสุดถึงเดือนกันยายน 2564 เท่านั้น กล่าวคือ ChatGPT ไม่สามารถรู้ทุกอย่าง หรือเข้าถึงข่าวสารและความรู้ที่เกิดขึ้นหลังจากเดือนกันยายน 2564 ได้ และยังมีข้อจำกัดอื่นๆ เช่น ChatGPT เวอร์ชั่นปัจจุบันจะเชี่ยวชาญภาษาอังกฤษเป็นหลัก และสามารถใช้ภาษาไทยได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้งาน ChatGPT ด้วยภาษาไทย

นอกเหนือจากการเป็น “ผู้ช่วย” แล้ว คุณโชคได้เปรียบว่า ChatGPT ในเวอร์ชั่นปัจจุบัน อาจเปรียบได้เสมือนกับพนักงานอาวุโสที่มีความรู้ในระดับปานกลาง ซึ่งรู้จักการใช้วาทศิลป์ที่สวยงาม น่าเชื่อถือ ประเด็นที่น่ากังวลมากที่สุดของการใช้งาน ChatGPT จึงเป็นเรื่องของ “ความเสี่ยง” ที่ผู้ใช้อาจจะเชื่อคำตอบของ ChatGPT โดยไม่ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูล

“อยากจะย้ำมาก เพราะว่า สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของ ChatGPT ในปัจจุบันคือ คนพร้อมจะเชื่อสิ่งที่ ChatGPT ตอบกลับมาโดยไม่รู้ข้อเท็จจริง รวมถึงไม่ค้นหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ถ้าคุณใช้ ChatGPT ณ วันนี้ คุณจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่า AI ไปนำข้อมูลมาจากไหน” คุณโชค กล่าว ปัญหาเกี่ยวกับด้านความน่าเชื่อถือ หรือความเสี่ยงของการคัดลอกผลงาน (Plagiarism) จึงเป็นปัญหาที่ทางผู้พัฒนา ChatGPT ยังต้องหาทางแก้ไขต่อไป

แนะใช้ ChatGPT แบบผู้เชี่ยวชาญหรือ Prompt Master

การรับมือกับความเสี่ยงจากการใช้ ChatGPT นั้น ผู้ใช้อย่างเรา ๆ อาจต้องเรียนรู้และหัดใช้ ChatGPT อย่างถูกวิธี เหมือนกับเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการสั่งการ AI หรือที่เรียกว่า Prompt Master ซึ่งมีองค์ประกอบและคุณสมบัติที่สำคัญ ดังนี้

1. ผู้ใช้ต้องเข้าใจโจทย์ว่าตัวเองต้องการอะไร เนื่องจาก AI ไม่สามารถเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ได้เอง

2. ผู้ใช้ต้องเข้าใจข้อจำกัดของ AI เช่น สำหรับกรณี ChatGPT ผู้ใช้ต้องรู้ว่า ChatGPT ให้ข้อมูลได้เป็นตัวอักษรเท่านั้น

3. สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ เนื่องจาก ChatGPT ในปัจจุบัน มีฐานข้อมูลที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก

4. เข้าใจการสื่อสารกับ AI สามารถบรรยายความต้องการของตนเองให้ AI รับรู้ได้

5. มีความรู้ในประเด็นที่ต้องการให้ AI ช่วยเหลือ ไม่อย่างนั้นผู้ใช้จะไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ข้อมูลที่ AI หยิบมานำเสนอ มีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด

6. สามารถจบหรือปิดงาน (Finalize) ได้เอง เพราะข้อจำกัดของ ChatGPT เวอร์ชั่นปัจจุบัน สามารถสร้างผลงานได้ในระดับของร่างงาน (Draft) เท่านั้น การสร้างผลงานที่เสร็จสมบูรณ์ จำเป็นต้องใช้ขั้นตอนการทำงานของมนุษย์

หากผู้ใช้งานรู้เท่าทันและสั่งการ ChatGPT ได้แบบ Prompt Master เราก็จะสามารถใช้งาน ChatGPT ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดจากการใช้งานที่ไม่เหมาะสม หรือตกเป็นเหยื่อของข้อมูลเท็จ

สำหรับคำถามที่ว่า มนุษย์จะถูก AI แย่งงานหรือไม่ คุณโชคชี้ว่า หากเปรียบเสมือน AI เป็นผู้ช่วยแล้ว มนุษย์จะถูกผู้ช่วยแย่งงานหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่ามนุษย์จะเก่งน้อยกว่า หรือ AI เก่งกว่า และอีกความเป็นไปได้คือ มนุษย์หยุดพัฒนาจนถูก AI แซงหน้าไปนั่นเอง

การพัฒนา AI และ OpenAI ในไทย

นอกจากอธิบายให้เข้าใจ AI เบื้องต้นแล้ว คุณชัชวาล สังคีตตระการ กลุ่มวิจัยปัญญาประดิษฐ์ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ยังได้กล่าวถึง AI ในยุคนี้ว่า หน้าที่ของมันไม่ได้มีเพียงแค่การตอบสนองความต้องการเท่านั้น แต่ยังทำความเข้าใจถึงสิ่งที่เราต้องการไปด้วย โดยเรียนรู้ผ่านการเรียนรู้และการใช้ภาษาได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่นเดียวกับเจ้า ChatGPT ที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ตอนนี้

ถึงอย่างไรความแม่นยำของ AI ก็ยังอยู่ในระดับปานกลางเท่านั้น ดังนั้นการเลือกใช้คีย์เวิร์ดเพื่อให้เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็วและน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญ สุดท้ายผู้ใช้จำเป็นต้องมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นเพื่อเปรียบเทียบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับ

คุณชัชวาลได้พูดถึงการพัฒนา AI ในไทยว่ามีการพัฒนาเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีอุปกรณ์และเทคนิคเป็นตัวช่วยทำให้ขั้นตอนง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ทว่าหนึ่งในปัญหาที่น่าสนใจคือ เราจะเอาความฉลาดที่ได้จาก AI ไปใช้อย่างไรได้บ้าง ซึ่งก็น่าจับตากันต่อไปว่า อนาคตของอุตสาหกรรม AI ไทยจะเดินไปในทิศทางใด

แน่นอนว่านับจากนี้ AI จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับพวกเราว่า “จะรอใช้ AI หรือจะสร้างมันขึ้นมา” คุณชัชวาลกล่าว

ทำความรู้จัก Generative AI

คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Content & Storytelling ได้เปิดประเด็นถึง “Generative AI” หรือ “AI แบบรู้สร้าง” ว่า เป็น AI ที่สามารถสร้างข้อมูลขึ้นมาเองได้ แต่เป็นข้อมูลที่ไม่มีอยู่จริง ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบข้อความ รูปภาพ วิดีโอ ฯลฯ เสมือนว่าเป็นผลงานของมนุษย์เอง ซึ่งในส่วนนี้เราอาจนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ด้วยการมี AI Literacy หรือความรู้เท่าทัน AI ที่เหมาะสม

พร้อมกับยกตัวอย่างของการทดลองใช้งาน ChatGPT ของอาจารย์ด้านภาษาศาสตร์ท่านหนึ่งในต่างประเทศที่ขอข้อมูลเกี่ยวกับไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ ผลปรากฎว่า การใช้ไวยากรณ์ของ ChatGPT ที่ได้ข้อมูลมานั้นดีกว่าไวยากรณ์ที่เคยสอนในชั้นเรียน นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างบทความภาษาไทยจาก ChatGPT ที่สื่อไทยได้ทดลองใช้งาน ด้วยการถามคำถามกับ ChatGPT เป็นภาษาไทยแบบบรรทัดต่อบรรทัด เพื่อนำข้อมูลที่ได้จาก ChatGPT มาเขียนบทความ

ทางด้านผศ.ดร.อลงกรณ์ ปริวุฒิพงศ์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า ChatGPT เป็นเครื่องมือที่กำลังเข้ามาถามถึงวิธีการเรียนรู้ของพวกเรา สุดท้ายแล้วเราจะเป็นคนใช้ ChatGPT หรือ ChatGPT จะเป็นคนใช้เรา โดยเปรียบเทียบ ChatGPT เป็นเหมือนดวงแก้ววิเศษที่ช่วยให้ชีวิตสะดวกขึ้น ขณะเดียวกันก็ลดทอนความสามารถในการเรียนรู้ และความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ให้น้อยลงได้เหมือนกัน

“สรุปแล้ว ChatGPT เป็นอะไรกับเราได้บ้าง” อาจารย์อลงกรณ์กล่าวทิ้งท้ายไว้ให้เราได้ขบคิดกันเล่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเชิงบวกหรือลบ ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า เจ้า AI ตัวนี้จะเข้ามามีบทบาทในแง่มุมใดในชีวิตเรา

ส่องแนวโน้มคอนเทนต์และผู้ผลิตสื่อยุค AI รุ่ง

ในช่วงท้ายของการพูดคุยกันในงานสัมนานั้น ได้มีการถกกันถึงบทบาทในด้านต่าง ๆ ของ AI และ ChatGPT รวมถึงทิศทางของคอนเทนต์ในยุคที่ AI โดดเด่นว่า จะเป็นอย่างไร คุณโชคกล่าวว่า คอนเทนต์ประเภทที่มีนิยามตายตัว (Definition) จะลดน้อยลง เนื่องจากเข้าถึงได้ง่าย เพราะสามารถค้นหาในกูเกิลก็ได้คำตอบทันที ในอีกด้านหนึ่ง ยังมีคำถามที่ยังไม่มีคำตอบแต่ต้องติดตามกันต่อไป เช่น คอนเทนต์เชิงสร้างสรรค์ (Creative Content) จะสร้างมูลค่าได้มากหรือน้อยกว่าคอนเทนต์ที่ AI สร้างหรือไม่ รวมถึงคำถามที่ว่าสื่อจะอยู่สบายหรือลำบากขึ้นเพราะ AI หรือไม่

นอกจากนี้ ยังอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ความเป็นไปได้ของการเกิดช่องว่างระหว่างผู้ที่ใช้ AI เป็นและไม่เป็น คล้าย ๆ กับช่วงที่คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อผู้คนในอดีต

คุณโชคยังเสริมด้วยว่า ChatGPT อาจเข้ามาทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่ขาดทักษะด้านการสื่อสาร ซึ่งพบได้ในแวดวงผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค เช่น โปรแกรมเมอร์ ในกรณีที่มีการทำงานร่วมกับกับผู้คนนอกวงการ ทักษะด้านวาทศิลป์ของ ChatGPT จะทำให้ผู้ไม่มีความรู้เฉพาะทางสามารถเข้าใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเฉพาะทางได้ง่ายขึ้น โดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางสามารถช่วยตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้

ถัดมา คุณชัชวาลชี้ถึงประเด็นที่ผู้ผลิตสื่อหรือนักข่าวอาจจะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นจากการที่ AI เป็นผู้ช่วยรวบรวมข้อเท็จจริงมาให้ และด้วยเหตุนี้ทุกวงการอาจจะต้องเริ่มทบทวนว่า เราจะสามารถยอมรับ AI ในฐานะเพื่อนร่วมงานได้หรือไม่

ผศ.ดร.อลงกรณ์ ทิ้งท้ายกับคำถาม”สื่อจะอยู่รอดหรือไม่” ว่า หากมีคอนเทนต์ที่ดี มีเอกลักษณ์ หาที่ไหนไม่ได้ อย่างไรคนก็ยอมจ่ายเงินให้ เนื่องจากปัจจุบันคอนเทนต์ที่มีความใหม่หาได้ยาก การนำ AI มาใช้อำนวยความสะดวกเป็นวิธีหนึ่งที่สื่อสามารถทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการนำข้อมูลที่ได้รับจาก AI มาใช้โดยไม่มีการดัดแปลง หรือมีการนำมาดัดแปลงให้เป็นสไตล์ของผู้เขียน ผู้ที่เป็นสื่ออาจต้องถามตัวเองว่า “ตัวเองอยากจะเป็นคนที่เด่นในเรื่องคุณค่าของเครื่องหรือคุณค่าของคน”

มุมมอง คำถาม และคำแนะนำที่ได้จากงานสัมนาครั้งนี้ น่าจะช่วยสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาและความเป็นไปของ AI และเราได้บ้าง ว่าแล้วก็ไปลองสมัครใช้แชตบอตเอไอกันดีมั้ย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)

Tags: , , , ,
Back to Top