นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ระดับ 33.79 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวจาก เย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 33.78 บาท/ดอลลาร์
เช้านี้ เงินบาททรงตัวจากท้ายตลาดเมื่อเย็นวันศุกร์ แนวโน้มวันนี้คาดว่าเงินบาทจะแกว่งออกข้าง นักลงทุนรอดูการรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนม.ค. ที่จะประกาศในคืนนี้
นอกจากนี้ ตลาดยังจับกระแสผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คนใหม่ด้วย
นักบริหารเงิน คาดว่า วันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 33.60 – 33.90 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (10 ก.พ.) อยู่ที่ระดับ 1.19393% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 1.49915%
ปัจจัยสำคัญ
– เงินเยนอยู่ที่ระดับ 131.66 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 130.91/93 เยน/ดอลลาร์
– เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0666 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่ระดับ 1.0711/0713 ดอลลาร์/ยูโร
– อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 33.671 บาท/ดอลลาร์
– แบงก์ชาติ และสถาบันการเงิน อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริต และบัญชีม้าระหว่าง กัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการใได้ หลังจากร่าง พ.ร.ก.กำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีผล บังคับใช้ ซึ่งร่างกม.ฉบับนี้ จะให้สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชี และธุรกรรมของลูกค้า ที่ต้องสงสัยได้ โดยไม่ขัดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
– ธนาคารกลางจีน (PBOC) เปิดเผยว่า ยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนของธนาคารจีนในเดือนม.ค.ปีนี้อยู่ที่ระดับ 4.9 ล้าน ล้านหยวน (ประมาณ 7.2182 แสนล้านดอลลาร์) เพิ่มขึ้น 2.8% หรือ 9.227 แสนล้านหยวน โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนอนุญาต ให้มีการขยายการปล่อยกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ซึ่งรวมถึงภาคธุรกิจและกลุ่มผู้บริโภค
– ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 66.4 ในเดือนก.พ. โดยสูง กว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.1 จากระดับ 64.9 ในเดือนม.ค.
– ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 1/2566 สูงกว่าระดับ 2.1% ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้
สำหรับในปี 2565 เศรษฐกิจสหรัฐหดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 และ 0.6% ในไตรมาส 2 ซึ่งทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางเทคนิค ก่อนที่มีการขยายตัว 3.2% และ 2.9% ในไตรมาส 3 และ 4 ตามลำดับ
– นักลงทุนจับตาการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ในสัปดาห์หน้า รวมทั้งถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ
บรรดาเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นในช่วงที่ผ่านมาบ่งชี้ว่า เฟดยังคงสนับสนุนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงิน เฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
– ข้อมูลเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกเดือนม.ค., ดัชนีภาคการผลิต (Empire State Manufacturing Index) เดือนก.พ.จากเฟดนิวยอร์ก, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนม. ค., ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านและการอนุญาตก่อสร้างเดือนม.ค. และดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนม.ค.จาก Conference Board
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.พ. 66)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท