- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 3,255 คน (+5)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 5 ราย
- ไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่ 57
- รักษาหายแล้ว 3,105 คน (+9)
- ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 92 คน (-4)
- เสียชีวิตสะสม 58 คน (+0)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่ 5 ราย ซึ่งเป็นผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ ส่วนในประเทศไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.เป็นต้นมา
สำหรับผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,255 ราย เป็นผู้ป่วยในประเทศ 2,444 ราย และผู้ป่วยใน State Quarantine จำนวน 318 ราย จำนวนผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวม 3,105 ราย และยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 92 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 58 ราย
ผู้ติดเชื้อ 5 รายใหม่วันนี้ มีรายละเอียด ดังนี้ เป็นผู้เดินทางกลับมาจากประเทศญี่ปุ่น 1 ราย เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 26 ปี มาถึงไทยเมื่อวันที่ 7 ก.ค. โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค พบอาการไข้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค (PUI) จึงเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ ตรวจไม่พบเชื้อ จึงเข้าพัก State Quarantine ที่ กทม. จากนั้นตรวจหาเชื้อใหม่อีกครั้งในวันที่ 18 ก.ค.ผลตรวจพบเชื้อ และมีอาการจมูกไม่ได้รับกลิ่น
อีก 3 ราย เดินทางกลับจากประเทศอียิปต์ เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 20, 25 และ 28 ปี มาถึงไทยวันที่ 8 ก.ค. (เป็นเที่ยวบินที่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้แล้ว 8 ราย) เข้าพัก State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อในวันที่ 19 ก.ค.ผลตรวจพบเชื้อ ทั้งหมดไม่มีอาการ
และอีก 1 รายเดินทางกลับจากซูดาน เป็นชายไทย อายุ 35 ปี มาถึงไทยวันที่ 18 ก.ค. (เป็นเที่ยวบินที่เคยมีรายงานผู้ติดเชื้อก่อนหน้านี้ 1 ราย) โดยผ่านการคัดกรอง ณ ด่านควบคุมโรค มีอาการปวดจากโรคไส้เลื่อน จึงส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลใน จ.สมุทรปราการ และ ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดแต่ไม่แสดงอาการ
สำหรับความคืบหน้าการตรวจตัวอย่างหาเชื้อโควิด-19 ในกรณีการสอบสวนโรคเพิ่มเติมจากประชาชนใน จ.ระยอง และ จ.กรุงเทพฯ พบว่า รายงานยอดรวมล่าสุด 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 14-20 ก.ค.63 มีการตรวจหาเชื้อแล้วทั้งสิ้น 7,144 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ประชาชนใน จ.ระยอง 6,780 ตัวอย่าง และกรุงเทพฯ 364 ตัวอย่าง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่พบว่ามีการติดเชื้อโควิด-19 แต่อย่างใด
โฆษก ศบค. กล่าวว่า ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ ได้มีการหารือเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ล่าสุดใน จ.ระยอง ซึ่งพบว่าสถานศึกษาทั้ง 234 แห่ง ได้กลับมาเปิดเรียนตามปกติแล้ว ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ เห็นว่าในระยะต่อไป หากจะมีการตัดสินใจปิดสถานศึกษาในลักษณะนี้อีก ก็ขอให้ผู้บริหารสถานศึกษาได้มาร่วมหารือกันก่อนกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้ได้รับทราบข้อมูลจากทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน ก่อนที่จะประกาศมาตรการใดๆ ออกไป เนื่องจากสถานการณ์ใน จ.ระยอง ไม่ถือว่ามีการแพร่ระบาด โดยมีเพียง 2 พื้นที่เท่านั้นที่เรียกว่าเป็นสถานที่สัมผัสเชื้อ คือ โรงแรม และศูนย์การค้าที่คณะของทหารอียิปต์เดินทางไป ดังนั้นการตัดสินใจปิดสถานที่ควรทำเป็นการเฉพาะเจาะจงเท่านั้น (Target Lockdown)
“สิ่งที่จะเกิดต่อไป คือ ภายในจังหวัดเองสามารถประชุมปรึกษาหารือกันก่อนที่จะออกมาตรการใดๆ แทนที่จะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนตัดสินใจเองคนเดียว ก็ขอให้มาลองหารือกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อใช้ข้อมูลให้รอบด้านก่อน” นพ.ทวีศิลป์กล่าว
พร้อมระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังอยู่ระหว่างการออกแบบข้อควรปฏิบัติ (ไกด์ไลน์) สำหรับใช้เป็นแนวทางเพื่อแต่ละจังหวัด หรือส่วนราชการต่างๆ นำไปใช้ประกอบการพิจารณาก่อนที่จะมีคำสั่งหรือมาตรการใดๆ ออกมาในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะนำกรณีของจังหวัดระยองมาใช้เป็น “ระยอง โมเดล”
“เราพยายามจะหาวิธีการเรียนรู้ร่วมกันกับเหตุการณ์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะออกประกาศอะไรก็ตามที่อาจจะมีผลกระทบต่อกัน ก็ให้คณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยกันคิด เพื่อให้ได้มาตรการที่เหมาะสมออกมา”
โฆษก ศบค.กล่าว
อย่างไรก็ดี วันพรุ่งนี้ (22 ก.ค.) จะมีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน ซึ่งจะมีการหารือถึงแนวทางการผ่อนคลายมาตรการ ระยะที่ 6 ในกรณีอนุญาตให้ต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้ามาประเทศได้
โดยนพ.ทวีศิลป์ ยืนยันว่า การปิดประเทศห้ามเดินทางเข้า-ออก เพื่อปิดโอกาสการรับเชื้อจากต่างประเทศเข้ามานั้น คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากประเทศไทยจำเป็นต้องมีการติดต่อธุรกิจการค้ากับต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อได้ ซึ่ง
“ปิดประเทศไม่ได้แน่นอน เพราะโลกเราต้องทำการค้าซึ่งกันและกัน เหมือนการปิดบ้าน เราล็อกแล้วจะอยู่อย่างไร ถ้าคิดว่าประเทศเปรียบเหมือนบ้าน การจะไม่ให้ไปมาหาสู่กันเลย คงไม่มีทางเป็นไปได้ เราต้องออกไปข้างนอก ออกไปทำงาน แต่การปิดเฉพาะที่ (Target Lockdown) ต้องมาพิจารณากัน การติดเชื้อกับการระบาดแตกต่างกัน กรณีของอียิปต์กับซูดานเป็นการติดเชื้อแต่ไม่ได้ระบาด เมื่อติดเชื้อแล้ว เรารู้เร็ว ก็จำกัดขอบเขตได้…ธรรมชาติของโรคจะมีช่วงเวลา ถ้าเรารู้เร็ว แล้วจำกัด ขีดวงขอบเขต และเข้าไปจัดการด้านสาธารณสุข ก็จะสามารถจัดการได้”
โฆษก ศบค.ระบุ
ส่วนเมื่อเกิดการระบาดขึ้นแล้ว สาธารณสุขไทยจะสามารถรองรับได้แค่ไหนนั้น คงได้เห็นมาแล้วจากที่ผ่านมาที่ประเทศไทยเคยพบผู้ติดเชื้อต่อวันสูงสุดถึง 188 คน ก็ยังสามารถรับมือได้ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า ศบค.กำลังทำให้เกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจเดินหน้าต่อได้ และการควบคุมโรคเกิดขึ้นได้ เพื่ออยู่กับสถานการณ์ของโรคนี้ต่อไปได้ในระหว่างที่ยังไม่มีวัคซีนใช้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 63)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ผู้ติดเชื้อ, ผู้เสียชีวิต, ศบค., โควิด-19