นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร (ศปท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) เพื่อเป็นหน่วยปฏิบัติการในการขับเคลื่อนการดำเนินการลงพื้นที่ในเรื่องพิเศษ (เฉพาะกิจ) ในการสอบสวนจับกุม ตลอดจนวางแผนจับกุม
ทั้งนี้ จะร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) โดย กทม. ได้จัดตั้งห้อง War Room ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร (ศตท.กทม.) ณ ห้องประชุมสำนักงาน ก.ก. 3 ชั้น 5
สืบเนื่องจากเกิดกรณีผู้อำนวยการโรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) เขตคลองสามวา ถูกจับกุมหลังมีการเรียกรับเงินจากคู่สัญญาหรือผู้ประกอบการที่ชนะการเสนอราคาโครงการจ้างเหมาประกอบอาหารสำหรับนักเรียน โดยกทม.ได้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
สำหรับขั้นตอนการปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย
– ขั้นตอนการรับเรื่องจากแหล่งข้อมูล ซึ่งมีการรักษาความลับโดยการจำกัดรหัสเข้าถึงข้อมูล ปิดรายชื่อ/ดัดแปลงรายชื่อผู้แจ้งเบาะแส
– ขั้นตอนปฏิบัติการ จะมีการตรวจสอบข้อมูลการทุจริตเบื้องต้น และศูนย์ฯ จะมอบหมายเจ้าหน้าที่ กทม. ลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ
– ขั้นตอนสอบสวน ขยายผล วางแผนจับกุม (ถ้ามี) ร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ตำรวจจาก บก.ปปป. และส่งต่อเพื่อดำเนินคดีอาญา พร้อมดำเนินการตามมาตรการทางการบริหารควบคู่กัน ได้แก่ การย้ายออกจากพื้นที่ โดยให้ประจำสำนักปลัดกรุงเทพมหานคร หรือให้ช่วยราชการที่หน่วยงานอื่น และดำเนินการทางวินัยอย่างร้ายแรง โดยสั่งพักราชการและให้ออกจากราชการไว้ก่อน
นายชัชชาติ กล่าวว่า กิจกรรมที่ส่อทุจริต มี 9 กิจกรรม ได้แก่ การจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับผลประโยชน์ การยักยอกเงินเก็บค่าธรรมเนียม ภาษีประเภทต่าง ๆ การนำทรัพย์สินของทางราชการไปใช้ส่วนตัว การเบียดบังเวลาราชการไปทำธุรกิจส่วนตัว การจัดการฝึกอบรม สัมมนา และศึกษาดูงานที่เข้าข่ายการทุจริต การจ่ายเงินต่าง ๆ ที่เข้าข่ายการทุจริต การเบิกจ่ายค่าอาหารทำการนอกเวลาที่เข้าข่ายการทุจริต และการแสวงหาผลประโยชน์จากการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งมีหน่วยงานที่เสี่ยงต่อการทุจริต 4 สายงาน ได้แก่ สายงานโยธา สายงานเทศกิจ สายงานรายได้ และสายงานสิ่งแวดล้อมฯ
“กทม. มีความตั้งใจอย่างจริงจัง ประกาศเจตนารมณ์ที่จะไม่อ่อนข้อ หรือผ่อนปรนให้กับการทุจริต มีการจัดการขั้นเด็ดขาดที่สุด ส่วนตัวมองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการทุจริตนั้น เป็นปัจจัยบุคคล อยู่ที่คุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึก ซึ่งถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ควรย้ำอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับความจริงว่าเกิดปัญหา จึงจะสามารถแก้ปัญหานั้นได้” นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ หากต้องการร้องเรียน หรือแจ้งเบาะแส สามารถแจ้งได้โดยตรงถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในฐานะ หัวหน้า ศปท.กทม. รองปลัดกรุงเทพมหานคร (นายเฉลิมพล โชตินุชิต) ในฐานะ หัวหน้า ศตท.กทม. และหัวหน้าสำนักงาน ก.ก. หรือผู้อำนวยการกองวินัยและเสริมสร้างจริยธรรม ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์ ผ่านระบบ Traffy Fondue
หรือทางไปรษณีย์ ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เลขที่ 173 ถนนดินสอ แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทร. 0 2224 2963 หรือ 1555 และอีเมล [email protected]
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.พ. 66)
Tags: กทม., กรุงเทพมหานคร, การทุจริต, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ศตท.กทม., ศปท.กทม., ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ปฏิบัติการติดตามการต่อต้านการทุจริตของกรุงเทพมหานคร