ฟิทช์ คงอันดับเครดิต SCC แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมไม่เกินสามแสนล้านบาทของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตยังคงเป็นลบ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’

แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่จากอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ที่อยู่ในระดับสูงในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCC ในปี 2566 จะยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 3.5 เท่า ซึ่งเป็นระดับสูงสุดที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันของบริษัทฯ เนื่องจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจเคมิคอลส์ที่ยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง

ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าว จะลดลงไปอยู่ระดับประมาณ 3.5 เท่า ณ สิ้นปี 2567 และลดลงอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป จากค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลงและกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อาจจะต่ำกว่าที่คาด จากการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่อาจจะชะลอตัวลง รวมถึงการฟื้นตัวที่ช้าของประเทศจีนหลังจากเริ่มเปิดประเทศ อาจจะทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ช้ากว่าที่ประมาณการ

อันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจหลักของบริษัทฯ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจที่หลากหลาย และความยืดหยุ่นทางการเงินที่สูงของบริษัทฯ

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ยังคงท้าทาย – ฟิทช์คาดว่า EBITDA net leverage ของ SCC จะคงอยู่ที่ระดับ 4.5-5.0 เท่า ในปี 2565-2566 (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 อยู่ที่ 4.7 เท่า) เนื่องจากผลประกอบการของธุรกิจเคมิคอลส์ที่อ่อนแอ การเริ่มดำเนินงานของโครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนาม ในกลางปี 2566 และส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2567 น่าจะทำให้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งนี้ การฟื้นตัวของธุรกิจหรือผลประกอบการของโครงการ LSP ที่ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูงกว่าประมาณการโดยที่ไม่มีการเพิ่มทุนมาชดเชย อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับเครดิตได้

อัตราส่วนหนี้สินของ SCC อาจลดลงเร็วกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ได้ หากแผนการออกหุ้นเพิ่มทุนผ่านการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของธุรกิจเคมิคอลส์ ซึ่งได้แก่ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) มีการดำเนินการแล้วเสร็จ อย่างไรก็ตาม แผน IPO ดังกล่าวยังขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดทุนที่มีความไม่แน่นอน และมีความเสี่ยงในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ SCC ได้มีการยื่นคำขอเสนอขายหุ้น IPO ดังกล่าวต่อสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อเดือนเมษายน 2565 และได้รับอนุญาตในเดือนตุลาคม 2565 แต่บริษัทฯ ยังไม่ได้การดำเนินการเสนอขายหุ้นตามแผนดังกล่าว เนื่องจากสภาพตลาดหลักทรัพย์ยังไม่เอื้ออำนวย

สถานะความเป็นผู้นำตลาด – อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัทฯ ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้น – ฟิทช์คาดว่ารายได้จากนอกประเทศไทย ทั้งในส่วนของฐานการผลิตในต่างประเทศและการส่งออก จะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเมื่อโครงการ LSP เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2566 LSP เป็นโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกและมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะรองรับการเติบโตของความต้องการโพลิเมอร์ภายในประเทศ ซึ่งในปัจจุบันยังคงพึ่งพาจากการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ การขยายธุรกิจโดยการเข้าซื้อกิจการของธุรกิจแพคเกจจิ้ง จะค่อยๆ ช่วยเพิ่มการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจของ SCC ด้วยเช่นกัน

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์เคมีที่ต่ำ – ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ SCC จะเพิ่มขึ้นในปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเริ่มดำเนินงานของโครงการ LSP รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง และธุรกิจแพคเกจจิ้ง ที่มีแนวโน้มลดลงบ้าง อย่างไรก็ตาม EBITDA ของ SCC น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า EBITDA ในช่วงปี 2561-2563 เนื่องจากส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ไม่น่าจะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับปกติ หรือระดับเฉลี่ยของวัฏจักร

ฟิทช์คาดว่า สภาพเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในปี 2566 น่าจะส่งผลกระทบต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีโดยรวม แม้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีน หลังจากการผ่อนคลายความเข้มงวดของมาตรการโควิดเป็นศูนย์จะช่วยลดทอนความเสี่ยงลงได้บ้าง นอกจากนี้ กำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรมซึ่งจะมาจากประเทศในเอเชียเป็นส่วนใหญ่ น่าจะกดดันส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในขณะที่ราคาวัตถุดิบของสินค้าโภคภัณฑ์และต้นทุนพลังงาน มีแนวโน้มที่จะยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะอ่อนตัวลงบ้างจากปี 2565

การลดค่าใช้จ่ายลงทุนช่วยสนับสนุนการลดอัตราส่วนหนี้สิน – SCC มีการพิจารณาแผนการใช้จ่ายลงทุนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพธุรกิจที่มีความท้าทายเป็นอย่างมากในปี 2565-2566 บริษัทฯ ประกาศลดแผนการใช้จ่ายลงทุนในปี 2565 ลงเหลือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ SCC ในปี 2566 น่าจะคงอยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกันกับในปี 2565 โดยส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายลงทุนเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการ LSP ให้แล้วเสร็จ และฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ SCC น่าจะลดลงในปี 2567-2568 เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ที่กำหนดเอาไว้แน่นอนแล้ว

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC, ‘A(tha)’/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้ SCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า SCCC เพียงหนึ่งอันดับ

เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC, อันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a+(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีขนาดธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่า แต่มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ซึ่งทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีที่น้อยกว่า อัตราส่วนหนี้สินของ PTTGC ปัจจุบันอยู่ในระดับเดียวกันกับของ SCC จึงทำให้อันดับเครดิตของ SCC อยู่ในระดับเดียวกันกับสถานะเครดิตโดยลำพังของ PTTGC อย่างไรก็ตาม ทั้ง SCC และ PTTGC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูง แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ SCC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ

SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP, อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘a-(tha)’) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่สองอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุริจและสถานะทางการเงินของ SCC ที่ดีกว่า โดย SCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า มีการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า และมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า ทั้งสองบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจากแผนการใช้จ่ายลงทุนที่สูง แนวโน้มเครดิตเป็นลบสะท้อนถึงความเสี่ยงที่มีต่อความสามารถในการลดอัตราส่วนหนี้สินของบริษัท

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

– รายได้รวมเติบโตในอัตราประมาณร้อยละ 17 ในปี 2566 (ปี 2565 มีอัตราการเติบโตร้อยละ 7.5) ส่วนใหญ่เป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตในธุรกิจเคมิคอลส์

– อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ยังคงอ่อนแออยู่ที่ระดับร้อยละ 8 ในปี 2566 (ปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.2) จากประมาณการส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่น่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำ

– ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 5.1 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และประมาณ 3 หมื่นล้านบาบในปี 2567

– อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 50 ในปี 2566-2567

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก: – แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาอยู่ในระดับประมาณ 3.5 เท่า ได้ภายในปี 2567 และลดลงต่อเนื่องหลักจากนั้น

ปัจจัยลบ: – บริษัทฯ ไม่สามารถทำตามปัจจัยบวกข้างต้นได้

ด้านสภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2566 จำนวน 7.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 4.6 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสด (ตามการปรับปรุงตัวเลขโดยฟิทช์) จำนวนประมาณ 6.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 4.0-5.0 หมื่นล้านบาทต่อปี และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงสินเชื่อจากสถาบันการเงิน

ฟิทช์คาดว่าสภาพคล่องของ SCC ในช่วงปี 2566 ยังต้องพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากภายนอก เนื่องจากแผนค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่สูง อย่างไรก็ตาม SCC ได้รับการสนับสนุนวงเงินกู้จากสถาบันการเงินสำหรับโครงการลงทุนหลักแล้ว โดย SCC มีวงเงินสินเชื่อระยะยาวจากสถาบันการเงินที่คงเหลือใช้ได้ จำนวนประมาณ 4.0 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 สำหรับโครงการ LSP

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ก.พ. 66)

Tags: , ,
Back to Top