นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในช่วงวันที่ 1-4 ก.พ. 66 มีฝุ่นรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่ปิด รวมถึงมีการเผาชีวมวล และหลังจากวันที่ 5 ก.พ. 66 สถานการณ์จะบรรเทาลงถึงดีขึ้น เนื่องจากลมอาจมีการเปลี่ยนทิศ
อย่างไรก็ตาม กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตั้งแต่เดือนต.ค. 65 จนถึงปัจจุบัน มีการตรวจแหล่งกำเนิดมลพิษ (ต้นตอฝุ่น) 2 ครั้ง/เดือน ดังนี้
- สถานประกอบการ/ โรงงาน 1,044 แห่ง ตรวจสอบจำนวน 4,028 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 7 แห่ง
- ตรวจแพลนท์ปูน 133 แห่ง จำนวน 522 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 16 แห่ง
- ตรวจสถานที่ก่อสร้าง โดยสำนักการโยธา 399 แห่ง จำนวน 392 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 1 แห่ง
- ตรวจสถานที่ก่อสร้าง โดยสำนักงานเขต 274 แห่ง 773 ครั้ง สั่งปรับปรุงแก้ไข 26 แห่ง
- ตรวจถมดินท่าทราย 9 แห่ง รวม 67 ครั้ง
- ตรวจควันดำในสถานที่ต้นทาง 1,288 คัน พบเกินค่ามาตรฐานและสั่งให้ปรับปรุงแก้ไข 10 คัน
- ตรวจควันดำรถยนต์ 58,871 คัน สั่งห้ามใช้ 1,245 คัน
- ตรวจรถโดยสารประจำทาง 9,269 คัน สั่งห้ามใช้ 43 คัน
- ตรวจรถบรรทุก 31,072 คัน สั่งห้ามใช้ 135 คัน (ข้อมูล ณ 30 ม.ค. 66)
นายชัชชาติ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่กำชับให้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้น คือ การพยากรณ์ฝุ่น ควรมีความแม่นยำมากขึ้น เพราะส่งผลต่อการเตือนภัยประชาชน และการประสานงานขอความร่วมมือจากพื้นที่รอบนอกเรื่องการเผาชีวมวล
ด้านแนวทางการรับมือกับฝุ่นในช่วง 2-3 วันนี้ ได้ขอความร่วมมือในการทำงานที่บ้าน (Work from Home: WFH) เพื่อลดการเดินทาง โดยกทม. ได้ประกาศของความร่วมมือบนช่องทางการสื่อสารของกทม. และมีเครือข่ายติดต่อกับบริษัทต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือ โดยขณะนี้มีบริษัทที่ให้ความร่วมมือ WFH จำนวน 33 บริษัท อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่รุนแรงถึงขั้นต้องประกาศปิดโรงเรียน
ส่วนการป้องกันผลกระทบจากฝุ่น สำนักอนามัย ได้มีการแจกหน้ากากอนามัยแก่กลุ่มเปราะบางไปแล้วกว่า 1 ล้านชิ้น รวมถึงสำนักการแพทย์ได้มีการเปิดคลินิกฝุ่น (คลินิกมลพิษทางอากาศ) ในโรงพยาบาล 5 แห่ง (โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ และโรงพยาบาลสิรินธร) และมีหน่วยงานลงตรวจต้นตอฝุ่นอยู่ตลอด
“สุดท้ายแล้ว การลดต้นตอฝุ่นเป็นเรื่องที่ต้องขอความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เพราะมีหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์ในกทม. หรือขนส่งมวลชน หากจะเปลี่ยนเป็นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) กทม. อาจมีส่วนเพียงการสนับสนุนในระดับหนึ่ง ซึ่งอาจไม่สามารถทำได้ในระยะสั้น แต่เป็นการวางแผนในระยะยาว ทั้งนี้ ในด้านการวิจัย เราจะต้องรู้ให้ชัดว่าต้นตอของฝุ่นนั้นมีองค์ประกอบจากอะไรเป็นหลัก เพื่อให้แก้ไขได้อย่างตรงจุด ในส่วนนี้ นักสืบฝุ่นได้พยายามวิเคราะห์หาคำตอบ และเราได้หารือกับกรมควบคุมมลพิษอยู่อย่างต่อเนื่อง” นายชัชชาติ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 66)
Tags: ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ฝุ่น PM 2.5