รันด์สตัด (Randstad) บริษัทจัดหางานจากเนเธอร์แลนด์ระบุว่า วิกฤตค่าครองชีวิตส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกเลื่อนแผนเกษียณอายุการทำงานออกไป แต่ยังมีสาเหตุอื่นที่ผลักดันให้ประชาชนในเอเชียตัดสินใจทำงานยาวนานยิ่งขึ้น
ในรายงาน Workmonitor ฉบับล่าสุดของรันด์สตัดพบว่า มีพนักงานเพียงครึ่งหนึ่งในผลสำรวจที่เชื่อว่า พวกเขาสามารถเลิกทำงานแบบถาวรได้ก่อนอายุ 65 ปี ซึ่งลดลงจาก 61% ในปีที่แล้ว
“เศรษฐกิจโลกซบเซา เงินเฟ้อสูง และความช่วยเหลือจากภาครัฐที่ลดลง ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากกลับมาทบทวนแผนการเกษียณอายุการทำงานอีกครั้ง” รันด์สตัดกล่าว
รายงานประจำปีจากรันด์สตัดนี้ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 35,000 รายในตลาด 34 แห่งทั่วโลกเกี่ยวกับมุมมองที่มีต่อโลกของการทำงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ 70% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ความวิตกกังวลเรื่องเงินจะทำให้พวกเขาไม่อาจเพลิดเพลินไปกับวัยชราของตนเอง แต่ประชาชนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมองว่า งานมีความจำเป็นต่อชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น 66% ของกลุ่มตัวอย่างจากอินเดีย และ 61% จากจีนมองว่า งานเป็น “สิ่งจำเป็น” ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 32% เกือบสองเท่าตัว
นายแซนเดอร์ แวนตี นอร์เดน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของรันด์สตัดให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซีว่า “ปัจจัยทางวัฒนธรรมเข้ามามีบทบาทในด้านการทำงานและการศึกษาของประชาชน โดยประชาชนรู้สึกว่าต้องทำงาน เพราะอาชีพที่มั่นคงทำให้พวกเขารู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่เคารพ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ม.ค. 66)
Tags: ค่าครองชีพ, เกษียณ, เกษียณอายุ