ผลงานจาก ChatGPT จ่อสร้างความวุ่นวายด้านลิขสิทธิ์

แชตจีพีที (ChatGPT) แชตบอตน้องใหม่จากบริษัทโอเพ่นเอไอ (OpenAI) สามารถสร้างสรรค์งานเขียนที่มีความลื่นไหลและสอดคล้องกันผ่านคำสั่งเพียงไม่กี่คำ โดยผู้ใช้งานสามารถใช้ ChatGPT เขียนเรียงความ บทกวี บทความ โฆษณา รวมถึงโค้ดคอมพิวเตอร์ได้

นิตยสารบาร์รอนส์ (Barron’s) รายงานว่า กระแสนิยม ChatGPT แบบฉับพลันกำลังสร้างปัญหายาก ๆ ขึ้น โดยปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ผลงานที่รังสรรค์ขึ้นจาก ChatGPT นั้นได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้กล่าวถึงผลงานที่สร้างขึ้นโดยเครื่องจักรอย่างแจ่มแจ้ง เพราะกฎหมายลิขสิทธิ์เขียนขึ้นในปีที่เครื่องเล่นวีเอชเอส (VHS) ถือกำเนิดขึ้น หรือก่อนยุคอินเทอร์เน็ต

ทั้งนี้ ในสหรัฐ กฎหมายลิขสิทธิ์อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ปี 2519

รายงานระบุว่า เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ สำนักงานลิขสิทธิ์ของสหรัฐระบุว่า ผลงานนั้นต้องสร้างขึ้นโดยผู้เขียนที่เป็นมนุษย์ กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐไม่คุ้มครองข้อความ รูปภาพ หรืองานศิลปะที่สร้างขึ้นโดยเครื่องจักร คอมพิวเตอร์ สัตว์ หรือผู้สร้างอื่นใดที่ไม่ใช่มนุษย์ ดังนั้น คำถามที่ว่าผลงานของ ChatGPT จะได้รับการปกป้องลิขสิทธิ์หรือไม่ ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นคำถามที่ซับซ้อน

ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน คำตอบจะขึ้นอยู่กับระดับการมีส่วนร่วมของมนุษย์ หากมีคนเขียนข้อความสั้น ๆ สั่งให้ ChatGPT “เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับหญิงสาวที่ปั่นจักรยาน” ระดับความคิดสร้างสรรค์จากมนุษย์ยังถือว่าไม่เพียงพอที่จะเข้าเกณฑ์ความคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมนุษย์ปรับแก้และสั่งให้ ChatGPT ปรับแต่งเรื่องราวอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น สั่งให้ ChatGPT สร้างตัวละคร ปรับเปลี่ยนโครงเรื่อง แก้ไขฉาก หรือสร้างตอนจบที่มีทางเลือก ผลงานก็อาจมีสิทธิ์ที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่ามนุษย์ต้องมีส่วนร่วมในผลงานที่ผลิตโดย ChatGPT มากเพียงใด ผลงานถึงจะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ปัจจุบัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 66)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top