นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือ เอสซีจี มั่นว่า ผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในปี 65 ที่กำไรสุทธิหดตัวลงไปถึง 55% เหลือแค่ 21,382 ล้านบาท ถือเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบ 14-15 ปีนับจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เพราะรอบนี้เป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เผชิญทั้งเศรษฐกิจจีนชะลอตัว วัฎจักรปิโตรเคมีขาลงครั้งใหญ่สุดในรอบ 20 ปี และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ต้นทุนพลังงานพุ่งขึ้น
แต่ในปี 66 นี้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะจากภาคท่องเที่ยวและการบริโภคกลับมาคึกคัก ขณะที่ตลาดอาเซียนดีขึ้นจากการเปิดประเทศของจีน ราคาถ่านหินในตลาดโลกลดลงหลังผ่านช่วงฤดูหนาว และเงินเฟ้อเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว บริษัทเชื่อมั่นว่าผ่านวิกฤติในครั้งนี้ไปแล้ว และตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ได้เป็นอย่างดี
“แผนงานในปีนี้เครือเอสซีจีตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อนที่มีรายได้ 569,609 ล้านบาท โดยได้ปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และจีนเปิดประเทศ ส่งผลดีต่อการบริโภค และเศรษฐกิจในประเทศเติบโต ขณะที่ธุรกิจเอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) จะเริ่มรับรู้รายได้โครงการปิโตรเคมีครบวงจร (LSP) ประเทศเวียดนามที่จะเริ่มเดินเครื่องผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ในกลางปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้ราว 10% ของยอดขายรวม”
นายรุ่งโรจน์ กล่าว
ส่วนวิกฤติต้นทุนพลังงานทั้งถ่านหินและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากนั้น เอสซีจี ได้รุกธุรกิจพลังงานสะอาด โดยมีขนาดกำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ในปี 66 เพิ่มขึ้น 78% จากปีก่อน ด้วยระบบเครือข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) สำหรับนิคมอุตสาหกรรม เครือข่ายโรงงานอุตสาหกรรม โรงแรม โรงพยาบาล ล่าสุดติดตั้งให้กับกลุ่มสหยูเนี่ยน บางปะกงไปแล้ว เชื่อมโยงพลังงานสะอาดระหว่าง 10 บริษัท ช่วยลดต้นทุนพลังงาน 30% และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3,670 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี ซึ่งธุรกิจนี้ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญด้านพลังงานสะอาดของเอสซีจี เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในตลาดโลก
ขณะที่เอสซีจีได้เพิ่มสัดส่วนใช้เชื้อเพลิงทดแทนในปี 65 เป็น 34% จาก 26% ในปีก่อนหน้า และใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 194 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจาก 130 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกัน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ พร้อมทั้งกำลังพัฒนาเทคโนโลยีดักจับและใช้ประโยชน์คาร์บอน
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่ในปีนี้ บริษัทจะมุ่งเน้นใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การสร้างฐานะการเงินให้มั่นคงและแข็งแกร่ง ซึ่งในช่วงสิ้นปีที่ผ่านมาบริษัทมีกระแสเงินสดคงเหลือกว่า 95,000 ล้านบาท 2.การลดต้นทุนโดยใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการผลิต และ 3.การพัฒนาสินค้าและธุรกิจใหม่ เพื่อให้ทันกับความต้องการของลูกค้า
ส่วนของงบลงทุนปีนี้ บริษัทฯ วางไว้ประมาณ 40,000-50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในโครงการ LSP ประมาณ 50% และที่เหลืออีกราว 50% ใช้สำหรับโครงการอื่นๆ ที่จำเป็น
นายรุ่งโรจน์ เปิดเผยอีกว่า บริษัทยังอยู่ระหว่างพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนำ บมจ.เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยขอรอดูสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกก่อน เนื่องด้วยปัจจุบันแม้จะเห็นว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดี แต่เศรษฐกิจต่างประเทศมีแนวโน้มจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้การบริโภคฟื้นตัวไม่เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามมองสถานการณ์ต่างๆ น่าจะไม่แย่ไปกว่าไตรมาส 4/65 แล้ว
บริษัทมีระยะเวลาราว 1 ปีในการ SCGC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังจากได้รับอนุมัติแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 5 ต.ค.65 หากจะต้องมีการยื่นไฟลิ่งใหม่ SCGC ก็มีความพร้อมด้านข้อมูลและเอกสารที่จะสามารถยื่นได้ทันที
“เราขอดูสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกไปก่อน หากสถานการณ์เอื้อ เราก็พร้อมที่จะนำ SCGC เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ”
นายรุ่งโรจน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 66)
Tags: SCC, SCGC, ปูนซิเมนต์ไทย, รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส, หุ้นไทย, เอสซีจี เคมิคอลส์