นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมความพร้อมของพรรคพลังประชารัฐ ในการสู้ศึกเลือกตั้งปี 2566 ว่า พปชร. อยู่ระหว่างการจัดทัพและเสริมทัพของว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ในเขตที่ไม่เคยมี ส.ส. และเขตที่ ส.ส. มีแนวโน้มย้ายไปสังกัดพรรคใหม่และพรรคอื่นๆ และได้ทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครมาตลอด โดยยืนยันว่าไม่ได้มีข้อกังวลใดๆ เพราะเชื่อว่าทุกพรรคก็ดำเนินการในลักษณะเช่นเดียวกัน
“เราพอจะรับทราบถึงทิศทางของส.ส.มาได้สักพักแล้วท่านหัวหน้าและเลขาธิการพรรคก็ได้เตรียมผู้สมัครทั้งที่ในเขตที่มีส.ส.อยู่แล้วและเขตที่ไม่เคยมีส.ส. รวมถึงส.ส.ที่มีแนวโน้มจะย้ายออกไปอยู่พรรคใหม่และพรรคอื่นๆ เราก็ได้เริ่มหาตัวผู้สมัครสำรองสำหรับเขตนั้นๆ ล่วงหน้ามาหลายเดือนแล้ว ซึ่งน้ำคงจะค่อยๆ นิ่งและตกผลึกในที่สุด เพราะมีส่วนหนึ่งขยับออก ก็จะมีส่วนหนึ่งขยับเข้ามาก็จะมาเติมเต็มกัน”นางนฤมลกล่าว
ทั้งนี้ที่ผ่านมาพปชร.ได้ขับเคลื่อนนโยบายที่วางไว้มาต่อเนื่อง เพื่อสร้างประเทศไทยให้มั่นคง ยั่งยืน ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาความยากจน ประชาชนอยู่ดีกินดีทุกพื้นที่ ไม่ใช่กระจุกตัวเฉพาะหัวเมือง ต้องกระจายความเจริญออกไป อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรประชารัฐเป็นนโยบายหลักที่ต้องต่อยอด การพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 กลายเป็นโจทย์ใหญ่ก็มีนโยบายที่ตอบโจทย์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม(เอสเอ็มอี ) ภาคการเกษตร นโยบายเหล่านี้จะค่อยๆ ทยอยเปิดให้ประชาชนเห็น
ดังนั้นนโยบายของพรรค และผู้สมัคร ส.ส.ที่มีความเข้มแข็ง รวมถึงภาวะผู้นำของพรรค จะสามารถทำให้ประชาชนเชื่อมั่นจนสามารถผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 สอดรับกับภาพที่ประชาชนได้เห็นว่าพล.อ.ประวิตร เป็นผู้มีภาวะการเป็นผู้นำที่กล้าตัดสินใจในสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน อีกทั้งไม่เคยขัดแย้งกับใคร และสามารถทำงานได้กับทุกพรรคการเมือง
“พล.อ.ประวิตร ท่านเป็นผู้นำที่มีลักษณะพิเศษ ไม่ขัดแย้ง ไม่โกรธ ให้อภัยทุกคนตลอด กวาดสายตามองออกไปคนที่เป็นเช่นนี้มีไม่เยอะในประเทศไทยซึ่งจะมาเป็นผู้นำที่ทำให้ประชาชนเห็นว่า ประเทศไทยมีผู้นำที่นำพาประเทศ ก้าวข้ามความขัดแย้งทั้งหมดได้จริงๆ หากไม่ได้ผู้นำเช่นนี้ ประชาชนยังตีกันอยู่”นางนฤมลกล่าว
นางนฤมล กล่าวว่า พรรคพลังประชารัฐมีฐานเสียงเดิม 8.4 ล้านเสียง ในการเลือกตั้ง ปี 54 และ ปี 62 เท่ากับฐานเสียงของทั้ง 2 ขั้วการเมืองยังคงสูสีกัน ดังนั้นการเลือกตั้งปี 66 ก็อาจจะต้องยังแบ่งครึ่งๆ เหมือนเดิม โดยคราวนี้ขั้วการเมืองตรงข้ามมีพรรคเพื่อไทยพรรคก้าวไกล พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอื่นๆ เล็กน้อย อีกฝั่งมี พปชร. พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคไทยภักดี ที่ต้องแชร์คะแนนกัน ดังนั้นจึงตอบยากมาก ส.ส.เขตได้เท่าไหร่และคงตอบล่วงหน้าไม่ได้ต้องดูตัวเลขคณิตศาสตร์หลังเลือกตั้งว่ามีเสียงเพียงพอจัดตั้งรัฐบาลไหม และต้องรอฟังมติคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ที่แน่นอนและชัดเจนคือปพชร.มีอุดมการณ์ตั้งแต่ก่อตั้งพรรค ปี 61 ที่พร้อมร่วมมือกับทุกคนเพื่อพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้งและวันนี้ยังเดินตามอุดมการณ์เดิมอย่างมั่นคง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 66)
Tags: นฤมล ภิญโญสินวัฒน์, พรรคพลังประชารัฐ